รัฐฯ คลายล็อก ผู้ประกอบการต้องรอด! นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผุดแพลตฟอร์ม “Locall – Awareness living” กลไกไม่รอรัฐ ฉุดคนเล็กคนน้อย และธุรกิจ SMEs
หลัง ศบค. เคาะคลายล็อก นั่งกินอาหารในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม เปิดห้างสรรพสินค้าตามปกติ เปิดลานกีฬาถึง 3 ทุ่ม อาจช่วยพ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการให้ใจชื้นขึ้นบ้าง แต่ยังมีมาตรการรัฐอีกหลายอย่างที่ภาคธุรกิจ SMEs มองว่า รัฐไล่ตามปัญหาและไม่ยั่งยืน เราควรเรียนรู้อะไรจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อทำให้ผู้ประกอบการ และผู้ค้ารายเล็ก รายน้อย รอดไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ
Active Talk ชวนฟังไอเดียจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขุนกลาง ขุขันธิน เจ้าของร้านอาหาร Gyudon House และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการ Once Again Hostel
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2021/06/202634104_1253250548426092_4487097850384433823_n.jpg)
“เรารู้สึกว่าสิ่งที่น่ากลัว คือ ความไม่ชัดเจนจากรัฐ การลอยตัวเหนือปัญหา และใส่เกียร์ว่าง เช่น การบอกเงื่อนไขกับ ผู้ให้เช่า, ผู้ประกอบการ ฯลฯ แบบหลวม ๆ หรือ งง ๆ การคลายล็อกแบบที่วัคซีนไม่ตามเป้า มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Lose lose situation…”
ขุนกลาง ขุขันธิน เจ้าของร้านอาหาร Gyudon House
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2021/06/203035910_1915243141991737_4133784174751294719_n-1.jpg)
ขุนกลาง ขุขันธิน เจ้าของร้านอาหาร Gyudon House มองว่า โควิด-19 เป็นสิ่งใหม่ ที่ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งในธุรกิจชัดเจนมากขึ้น ขณะที่รัฐเองก็มีข้อมูลของภาคธุรกิจอยู่ในมือ แต่ยังไม่เห็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากนัก โดยตลอดช่วงการระบาดโควิด-19 รัฐเองก็มีความไม่ชัดหลายประเด็น ซึ่งส่งผลต่อการวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินอนาคต และไม่ทันต่อสถานการณ์ความอยู่รอดของ SMEs และคนในห่วงโซระบบเศรษฐกิจที่สายป่านกำลังขาดกันไปทั้งหมด
สถานการณ์คลายล็อกดูเหมือนจะช่วยต่อลมหายใจได้ แต่พอเอาเขาจริง ปัจจัยแวดล้อมที่ต้องนำมาคิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการฉีดวัคซีน ความเชื่อมั่น และแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการร้านอาหารก็ยังไม่มีความชัดเจน การประกาศของรัฐเป็นลักษณะของการสั่งห้าม มากกว่าการบอกสิ่งที่แต่ละคนควรทำเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการจัดการของรัฐกำลังมีปัญหา รัฐไล่ตามปัญหา ขาดการฟังความเห็นจากภาคส่วนอื่น ๆ ไม่มีวัฒนธรรมการกระจายอำนาจ นำมาสู่ความเสียหายในภาพรวมระบบเศรษฐกิจ หรือ ที่เรียกว่า Lose lose situation
สิ่งที่น่ากลัว คือ เราไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมเลย “รัฐห้าม แต่ไม่ได้บอกวิธีการที่ถูกต้อง” สะท้อนวิธีคิดไม่กระจายอำนาจจากแว่นตาของผู้นำ
ขุนกลาง ขุขันธิน เจ้าของร้านอาหาร Gyudon House
ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการ Once Again Hostel เป็น SMEs อีกคนที่พยายามปรับตัวในทุกรอบของการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ดูจะได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้ร้านอาหาร เพราะถูกสั่งปิดในการระบาดระลอกแรก และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งหายไปหลังวิกฤตโรคระบาดทั่วโลก
เขาสะท้อนว่า ยิ่งเป็นธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีลูกน้อง 80-100 คน ก็ยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบหนัก ที่ผ่านมามีหลายกิจการพยายามดิ้นรนเอาตัวรอด ผันตัวไปขายส่งอาหาร ที่ผ่านมา แม้รัฐจะมีมาตรการ Soft Loan (การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) ให้ SMEs เข้าถึงเงินกู้ได้ แต่ก็ต้องกู้มาจ่ายหนี้ จ่ายดอก ขณะที่แผนระยะยาวก็จะติดปัญหาเรื่องเงื่อนไขเงินกู้ เป็นความยากที่ทำให้คนไม่กล้ากู้ โจทย์ใหญ่คือ “หากเปิดประเทศแล้ว กลับมาปิดอีกคงเจ็บตัวกันหนักกว่าเดิม…” ศานนท์ กล่าว
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2021/06/204612940_560680191759039_7748556569028542177_n.jpg)
รัฐควรเป็นหน่วยสนับสนุน และออกมาตรการที่ช่วยพยุงอาชีพ ธุรกิจให้อยู่ได้ แทนการสนับสนับเงินกู้เพียงอย่างเดียว เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน คือ SMEs กู้ไปจ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ย เมื่อใช้หมดก็ถึงทางตัน
ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการ Once Again Hostel
มากกว่าเข้าถึงแหล่ง “เงินกู้” ต้องคง “อาชีพ” ฟื้นเศรษฐกิจระยะยาว
ศานนท์ เล่าว่า จากข้อมูลปัจจุบัน มีตัวเลข SMEs จดทะเบียน 3 ล้านกว่าราย แต่มีผู้ไม่เสียภาษีมากกว่า 90% ด้วยเหตุผลไม่มีกำไรและหลบหลีก โดยมองว่ารัฐน่าจะเข้ามาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อหาแรงจูงใจให้มีตัวเลขผู้เสียภาษีมากขึ้น ขณะที่บางโครงการที่รัฐทำได้ดี เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม และน่าจะเอามาใช้พร้อมกับวันที่รัฐบาลเตรียมคลายล็อก ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ดีเร็วขึ้น ส่วน โครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ ก็เป็นอีกโครงการที่ ศานนท์ มากกว่าการช่วยจ้างงาน แต่ควรเป็นการพยุงพนักงานให้มีงานทำต่อได้ ซึ่งมันจะเป็นตัวอย่างของโครงการที่รัฐไม่ต้องให้เงินเขาไปเรื่อย ๆ เพียงแต่ให้พนักงานยังคงสามารถรักษาอาชีพ รักษาการมีงานทำของเขาต่อไปได้เรื่อย ๆ
โดยมีข้อเสนอว่า รัฐควรใช้ช่วงโอกาสการระบาด ทบทวนกฎหมาย ปรับปรุงอาคารที่เป็นปัญหา และทุ่มงบประมาณไปกับการสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต เช่น การพัฒนาระบบขายหน้าร้านที่สามารถเก็บข้อมูลลูกค้า และใช้เพื่อการวิเคราะห์ต่อยอดได้ หรือที่เรียกว่าเครื่อง (POS : Point of Sale System) และระบบการคิด GP : Gross Profit ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ในยุคดิจิทัล
ผุดไอเดีย Locall : แนวคิดโรงแรม ร้านอาหาร พยุงชุมชนรอด ฟื้น ศก. ร่วมกัน
ในวิกฤตยังมีความหวัง และโอกาสเสมอ Locall (โลคอล) ที่รวมเอาคำว่า Local+Call เป็น แพลตฟอร์มเล็ก ๆ ที่ ศานนท์ และทีม SMEs ร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยร้านอาหารเล็ก ๆ ในชุมชนทั่วกรุงเทพฯ โดยใช้วิธีการเรียนรู้ระบบจาก อสม. เพื่อปรับใช้กับภาคธุรกิจ ด้วยหลักการรัฐควรกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ดูแลกันเอง เพราะคนในพื้นที่รู้ปัญหาดีที่สุด โดยเริ่มจากการสำรวจท้องถิ่น ดูความพร้อมของการใช้ดิจิทัลในย่านชุมชน และสร้างแพลตฟอร์มให้คนสามารถเข้าถึงอาหารได้หลายร้าน เชื่อมโยงผู้ส่งอาหารที่เป็นวินมอร์เตอร์ไซต์ในชุมชน เพื่อช่วยกันพยุงเศรษฐกิจ
ล่าสุดได้เปิดตัว แคมเปญไทยมุงรุมกันสั่ง วิธีการ คือ ถามร้านอาหารว่าถ้าจะรอด ต้องขายกี่จาน ตั้งเป้าหมายแล้วจึงโปรโมททำตารางวันที่พร้อมส่งสินค้า และให้ประชาชนที่สนในรุมสั่งก่อนล่วงหน้า 24 ชม. เพื่อช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยให้รอดไปด้วยกัน และนี่คือเมนูล่าสุดที่กำลังเปิดตัวให้เตรียมสั่งกันภายในสัปดาห์นี้
ไอเดีย Awareness living : แพลตฟอร์มอาหารท้องถิ่นยุค New Normal
เช่นเดียวกับ เชฟขุนกลาง ที่ผุดไอเดียเติมเรื่องเล่าลงไปในอาหารพื้นถิ่นทั่วประเทศ เพื่อระบุที่มา คุณค่า ปักหมุดลงบนแพลตฟอร์มที่ใช้ชื่อว่า Awareness living คาดว่าจะเปิดตัวภายในอีก 3 เดือน เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีของดีได้มีรายได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีสิทธิ์เลือกอาหารที่ชื่นชอบตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น (Local specialty) เป็นแบบฟอร์มที่กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่น่าจับตา โดยขุนกลางได้เน้นย้ำถึงการสร้างมูลค่าผ่านการแปรรูป โดยในระยะยาวคาดว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของเขาในฐานะเชฟ ช่วยเหลือคนในชุมชนท้องถิ่นให้อยู่รอดได้ในยุคโควิด-19 อย่างยั่งยืน
ด้าน ศานนท์ ยังทิ้งท้าย ฝากถึงรัฐบาลว่า คน Gen Y อย่างเขาและอีกหลายคนที่อายุ 30 ปีต้น ๆ กำลังอยู่ในช่วงสร้างอาชีพ สร้างตัว และกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ แต่เตือนรัฐอย่าทำให้ความภูมิใจของยุคนี้หดหายไป เพราะมันจะกลายเป็นแผลใหญ่จนคน Gen นี้
“อยากให้นายกรัฐมนตรีลองไปถาม และรับฟังลูกหลานใกล้ตัวที่มีกิจการ จะได้พยายามทำความเข้าใจ และออกแบบนโยบายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และยั่งยืนได้…”