สั่งปิดได้ ต้องเยียวยาด้วย วอนสังคมอย่ามอง “ขายบริการ” เป็นอาชญากรรม แนะ รัฐนำกลุ่มแรงงานบริการเข้าระบบประกันสังคม
มาตรการคุมเข้มครั้งล่าสุดในพื้นที่สีแดงเข้ม รวมถึงกรุงเทพมหานคร ครั้งนี้เหมือนเป็นการต่ออายุการปิดสถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆไปโดยปริยาย ซึ่งถูกปิดมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จากการระบาดระลอก 3
พนักงานบริการต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จึงออกมาเรียกร้องการเยียวยา จากรัฐบาลเนื่องจากเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบและมักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการเยียวยาเสมอ
กลุ่มพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เดินทางมาติดตามทวงถามรัฐบาลถึงแนวทางการเยียวยาให้กับพนักงานบริการ ที่ได้ผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคเป็นกลุ่มแรก และเป็นกลุ่มสุดท้ายเสมอที่จะถูกผ่อนปรนให้เปิดบริการอีกครั้ง โดยนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับหนังสือ
“พนักงานอาบอบนวด” ที่เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่ง กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากการปิดบริการที่ยาวนานต่อเนื่อง คือตกงานไม่มีรายได้ ขณะที่พนักงานบริการส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จึงเข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือการว่างงาน ทั้งยังไม่ได้รับการเยียวยา ไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
“ผลกระทบไม่ได้เกิดกับพนักงานบริการเพียงคนเดียวเท่านั้นแต่ยังกระทบไปถึงครอบครัวซึ่ง 80% ของพนักงานบริการในอีกบทบาทคือความเป็นแม่ และต้องดูแลคนในครอบครัวหลายชีวิต“
ด้าน “ศิริศักดิ์ ไชยเทศ” พนักงานบริการอิสระ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พนักงานบริการได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการเนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการ เป็นเงิน 5,000 บาทต่อเดือน และคนทำงานในสถานบริการทุกคนจนกว่าจะกลับมาเปิดดำเนินการได้ จนถึงปัจจุบันได้รับหนังสือตอบกลับเพียงฉบับเดียวเมื่อเดือนพฤษภาคม จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า จะประสานกับกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะนี้เวลาผ่านไปเป็นเดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
“เราคนทำงานบริการ ต้องการมีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานได้รับสิทธิไม่ถูกเลือกปฏิบัติ”
กลุ่มพนักงานบริการกลุ่มนี้ ระบุธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการถือเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของประเทศไทย เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะเยียวยาพนักงานบริการ ที่ถือเป็นอีกกลุ่มแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ในทางตรงกันข้ามพนักงานบริการกลับถูกทำให้เป็นอาชญากร ที่รัฐตั้งใจมองไม่เห็น ทิ้งพนักงานบริการไว้ข้างหลัง เหตุการณ์คลัสเตอร์ระบาดที่ไม่รู้ว่าโควิด-19 มาจากใครคนแรก แต่พนักงานบริการกลับเป็นจำเลยของสังคมไม่ถูกกล่าวถึงในการเยียวยา