จับมือ กทม. ปรับ 4 มาตรการใหม่ ไฟเขียว วัยหนุ่มสาวใช้ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง พร้อมฉีดวัคซีนเข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์ บังคับใช้มาตรการ Work Form Home 70% หวัง กดจำนวนผู้ติดเชื้อ เดือน ก.ค.
สถานการณ์การครองเตียงของผู้ป่วยเดือน ก.ค. ข้อมูลวันที่ 4 ก.ค. 2564 มีการครองเตียง 28,000 เตียง เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. กว่า 10,000 เตียง “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสี โดยเฉพาะกลุ่มสีแดงเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 1 เดือน จาก 657 คนในเดือน มิ.ย. เป็น 1,130 คน ในเดือน ก.ค.ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 200 เป็น 400 คน ระดับการเสียชีวิต วันละ 30-40 คน จึงเป็นที่มาของการกำหนด“มาตรการกักตัวที่บ้าน” หรือชุมชน
“ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าโครงการกักตัวที่บ้านกับโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์กว่า 100 คน มีการส่งปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดไปให้ พร้อมส่งอาหาร 3 มื้อ เป็นการกักตัวคนไข้ไปในตัว และติดตามอาการวันละ 1-2 ครั้งหากอาการแย่ลง จะส่งยาไปให้หรือประสานส่งตัวไปยังโรงพยาบาล”
เปิด 4 มาตรการลดผู้ติดเชื้อ ปรับยุทธศาสตร์วัคซีน เข้มมาตรการทางสังคม
ด้าน “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นมาจากสัดส่วนสายพันธุ์เดลต้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีการติดเชื้อง่ายและแพร่วงกว้าง ส่วนใหญ่อยู่กทม.และปริมณฑล
“ต่างจังหวัดสามารถควบคุมการระบาด มีการตรวจและรับผู้ป่วยไว้ในการรักษาต่างจังหวัดดูแลได้เป็นอย่างดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่ง สธ.ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลในพื้นที่ กทม.โดยตรง
อย่างไนก็ตาม “นพ.เกียรติภูมิ” ระบุว่าในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลใน กทม. ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และการให้วัคซีน เพื่อควบคุมโรคให้เร็วที่สุดโดยวาง 4 มาตรการใหม่ประกอบด้วย 1. การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ 2. ปรับระบบการรักษาพยาบาลการเชื่อมต่อระบบรักษาดูแลผู้ป่วย
3. ปรับนโยบายวัคซีน ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิ (Booster Dose)ให้กับบุคลากรด่านหน้าใน รพ.ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทุกวันโดยตรง และเปลี่ยนวิธีการให้วัคซีนจากปูพรม เป็นฉีดพุ่งเป้าให้ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ7กลุ่มโรค โดยวัคซีนที่มีอยู่จะจัดสรรให้กับ 2 กลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 80 % ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต
และ 4. มาตรการสังคม ซึ่งจะเป็นมาตรการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯทันทีเพื่อพยายามควบคุมโรคภายในเดือนกรกฎาคมให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง
บังคับ Work From Home 70%
สอดคล้องกับ “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะมีการยกระดับมาตรการทางสังคมและองค์กร โดยเฉพาะประชาชนเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่มีการระบาดมาก จะบังคับมาตรการ work from home ในสถานที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการป้องกันควบคุมโรค และสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้ 70% พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มความเข้มงวด มาตรการส่วนบุคคล ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยให้ได้มากที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
“กทม.และปริมณฑล ที่เป็นศูนย์กลางระบาดของโควิดนั้น มาตรการเดือน ก.ค.-ส.ค. จะปรับมาตรการให้เข้มมากยิ่งขึ้น”
คร. ไฟเขียว ให้ใช้ชุดตรวจเชื้อเอง เบื้องต้น
“นพ.โอภาส” ระบุถึงมาตรการค้นหา รักษา แยกกัก ควบคุม ได้แก่ 1. เน้นไปที่การปกป้องผู้สูงอายุและผู้เสี่ยงป่วยรุนแรง จัดทางด่วนสำหรับผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงป่วยรุนแรง 2. ปรับกลยุทธ์การตรวจการติดเชื้อสำหรับวัยหนุ่มสาวให้ใช้สถานที่อื่น ๆ และวิธีตรวจอื่น ๆ เช่น หน่วยนอก รพ. หน่วยเชิงรุก รถพระราชทาน คลินิกชุมชน แล็บโดยใช้ Antigen Test ทั้งที่คลินิกแล็บ หรือตรวจด้วยตนเอง หากพบผลบวกจึงส่งมาตรวจยืนยันในช่องทางด่วนแล้วนำเข้าสู่ระบบการรักษา และ 3. ปรับการสอบสวนและควบคุมโรคที่เน้นสอบให้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ กลุ่มก้อนและจุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา