ศบค.ส่อคุมแอสตราฯ งดส่งออกวัคซีน หลังเอกสารลับหลุด

รัฐขู่ล็อกดาวน์สนิทแบบ “อู่ฮั่น” หากยังคุมเชื้อไม่อยู่ ด้าน “กรมควบคุมโรค” เซ็นสัญญาไฟเซอร์ ส่งมอบ 20 ล้านโดสปลายปี ขณะ “อนุทิน” สั่งสถาบันวัคซีนฯ ร่างประกาศงดส่งออกวัคซีน

เอกสารลับที่โต้ตอบกันระหว่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับ “บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า” ลงวันที่ 25 มิ.ย.2564 ที่สำนักข่าวอิศรานำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมานับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาภายหลังจากที่ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ”​ระบุว่ากำลังพิจารณาใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 สั่งงดหรือกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา

แผนการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาเดือน มิ.ย.64 จำนวน 6 ล้านโดสเดือนต่อไปเดือนละ 10 ล้านโดส และจบลงที่เดือนธันวาคม 5 ล้านโดสให้ครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 เป็นสิ่งที่รัฐบาลประกาศมา ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 2564 

แผนจัดหาวัคซีน ที่รัฐบาลประกาศผ่าน เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 64

แต่ความน่าเชื่อถือนี้กำลังถูกสั่นคลอนหลังจากที่ พบเอกสารลับดังกล่าวซึ่งระบุว่า ประเทศไทย ต้องการวัคซีน เดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น ขณะที่  “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่าตัวเลข 3 ล้านโดส เป็นข้อมูลเก่าอย่างไม่เป็นทางการ ที่พูดถึง ศักยภาพในการฉีด ณ เดือนกันยายนปี 2563 ขณะนี้ปัจจุบันมีศักยภาพการฉีดถึงเดือนละ 10 ล้านโดส แต่ก็ยอมรับว่าในสัญญาไม่มีการระบุจำนวนส่งมอบในแต่ละเดือน

“สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” เปิดเผยกำลังการผลิตล่าสุด ของโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ว่าสามารถผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาได้จำนวน 15 ล้านโดสต่อเดือนและประเทศไทยจะได้วัคซีน 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต คือประมาณ 5 ล้านโดสต่อเดือน 

สำหรับพื้นที่ศูนย์กลางการระบาดใหญ่ “กรุงเทพมหานคร” ที่มีการฉีดวัคซีนเกือบครึ่ง 50% แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง อาจสะท้อนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย “ซิโนแวค” ที่นำเข้าเป้นจำนวนมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น จนเกิดกระแสเรียกร้องวัคซีน mRNA จนในที่สุดมีการปรับแผนการจัดหาวัคซีน โดยจะสั่งซื้อวัคซีน ซิโนแวค เป็นรอบสุดท้ายในเดือนสิงหาคมนี้ 

อันที่จริง “ซิโนแวค” ไม่ใช่วัคซีนหลัก แต่เข้ามาขัดตาทัพในช่วงที่ยังหาวัคซีนไม่ได้ คำถามใหญ่คือวัคซีน “แอสตราเซเนกา”​ ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยกลับมีปัญหามากมายในการส่งมอบ 

“แอสตราเซเนกา” ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยี ไวรัลเวกเตอร์ ก็ยังมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าวัคซีนเชื้อตาย และตอนนี้ก็มีความต้องการเป็นอย่างมากท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อ 10,000 คนต่อวัน จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาล โดย ศบค. จะเลือกตัดสินใจ “งดส่งออกวัคซีน” เพื่อดึงมาฉีดให้กับคนในประเทศ 

ล่าสุด (18 ก.ค. 64) “อนุทิน ชาญวีรกูล” สั่งการให้ “นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เสนอให้ ศบค. พิจารณาตัดสินใจแล้ว เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแล้ว 

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนในมือ 17 ล้านโดส แบ่งเป็น
ซิโนแวค 9 ล้านโดส
แอสตราเซเนกา 8 ล้านโดส
ฉีดแล้ว 14 ล้านโดส เหลือ 3 ล้านโดส อยู่ระหว่างการกระจายลงพื้นที่ต่างๆ 

ขณะที่การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะรองรับ โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า คือวัคซีน mRNA วันนี้ (19 ก.ค. 64) ได้มีการเซ็นสัญญากับบริษัท “ไฟเซอร์” เพื่อนำไปสู่การส่งมอบจำนวน 20 ล้านโดสช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564

แต่อย่างเร็วที่สุดวัคซีน mRNAที่จะได้มา ในวันที่ 29 ก.ค.นี้  ของไฟเซอร์ เป็นวัคซีนบริจาคจาก “สหรัฐอเมริกา”​ จำนวน 1.5 ล้านโดสซึ่งมีแผนที่จะฉีดเป็นบูสตอร์เข็มสามให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ฉีดซิโนแวคครบสองโดสก่อนหน้านี้แล้วยังมีการติดเชื้อ

ขณะที่แผนจัดหาวัคซีนในปี 2565 สถาบันวัคซีนแห่งชาติบอกว่า จะนำเข้าวัคซีนหลายรูปแบบ โดยจะเน้นวัคซีน mRNA เป็นหลัก แต่คำถามก็คือการดำเนินการที่ว่ามาทั้งหมดช้าเกินไปหรือไม่ นับจากการระบาดระลอกแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2563 และวัคซีนล็อตแรกที่เข้ามาถึงประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จนต้องเดินมาสู่การล็อกดาวน์อีกครั้งซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนสูงมาก หากนับจากช่วงหลังสงกรานต์ มาจนถึงวันนี้ กว่า 4 เดือนที่บางกิจการยังไม่สามารถเปิดได้ 

หลังวันที่ 20 ก.ค. 64 การล็อกดาวน์ จะยกระดับขึ้นเทียบเท่ากับเดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง “เลขาธิการ สมช.”​ยอมรับว่าอาจถึงขั้นต้องใช้การปิดเมืองแบบ “อู่ฮั่น”​ แต่รัฐบาลมีความชอบธรรมแค่ไหน ที่จะปิดเมืองแบบสนิทที่ส่งผลกระทบสูง ภายใต้เงื่อนไขที่ทั่วโลกสามารถผลิตวัคซีนใช้เพื่อรับมือ โควิด-19 ได้แล้ว  

นอกจากรัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าการวางแผนการจัดหาวัคซีนที่ผ่านมาไม่รัดกุมเพียงพอแล้ว  จึงอาจต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาใช้แก้ไขสถานการณ์การระบาดอย่างเร็วที่สุด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS