เหตุใดคนกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนเกิน 50% แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลด

“นักระบาด” ชี้ ประชากรแฝงไม่แน่นอน ฉีดไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ด้าน “นักไวรัสวิทยา” มองวัคซีนเชื้อตายประสิทธิภาพลด หลังเผชิญสายพันธุ์เดลตา 

ประชากรเกือบ 4 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว…

ข้อมูล ณ 20 ก.ค. 2564 กรุงเทพฯ มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 3,860,425 คน และได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว 953,323 คน

หากเทียบกับจำนวนประชากร ทั้งผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และประชากรแฝง ที่มีอยู่ราว 7 ล้านคน นั่นหมายความว่ามีการฉีดวัคซีนไปถึง 50% ของประชากรแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มการระบาดที่ลดลง 

นักระบาดวิทยามีคำอธิบายเรื่องนี้ว่าอาจเป็นเพราะจำนวนประชากรแฝงที่แท้ ที่ไม่ชัดเจนในเมืองหลวง และบริเวณปริมณฑลที่กว้างขวาง ผู้คนเดินทางเข้าออกจำนวนมาก 

ขณะที่การฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่เท่านั้น ทำให้คนรอบนอกเดินทางเข้ามาฉีดได้โดยไม่ยาก ทำให้ “ศ. นพ.วีระศักดิ์​ จงสู่​วิวัฒน์​“ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา ม.อ. และที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองว่า วัคซีนที่ฉีดไปก่อนหน้านี้คงจะไม่มีผลป้องกันกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพมหานครมากนัก

ขณะที่นักไวรัสวิทยาอีกกลุ่มหนึ่ง มองว่าอาจเป็นเพราะประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายที่ถูกนำมาใช้เกินครึ่งของวัคซีนในประเทศ​ ไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ตอนนี้ระบาดกินสัดส่วน ไปถึง 70% ในกรุงเทพมหานคร

แต่ กรมควบคุมโรค กลับยังมั่นใจ จากผลการศึกษาในสถานการณ์จริงในภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงรายและทั่วประเทศพบว่า วัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อประมาณ 90% และป้องกันปอดอักเสบได้ถึง 85 % ทั้งยังมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาในระดับคงที่คือ 75 %

ในช่วงของการล็อกดาวน์ หากฉีดวัคซีนไม่มากพอ เมื่อคลายล็อกดาวน์อาจเกิดการระบาดซ้ำ คำถามก็คือพื้นที่ศูนย์กลางการระบาด ได้รับจัดสรรวัคซีนเพียงพอ ที่จะยุติการระบาดหรือไม่

ในเดือนกรกฎาคมประเทศไทย ทั้งที่จัดซื้อ และได้รับบริจาคจำนวน 10 ล้านโดสแบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 5 ล้านโดส ซิโนแวค 5 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์อีก 1.5 ล้านโดสที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาจะมาถึงในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ 

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ​ วันที่ 18 มิถุนายน ระบุเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด ในเดือนกรกฎาคม จะแบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดสูง คือกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัด เศรษฐกิจท่องเที่ยวอีก 5 จังหวัด ในสัดส่วน 30% 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นตาก หนองคาย สระแก้วยะลา ปัตตานี หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่นพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทราจำนวน 23 จังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส คิดเป็นสัดส่วน 25% 

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่เหลือของประเทศไทยอีก 49 จังหวัดเฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส ในสัดส่วน 35% และกลุ่มที่ 4 หน่วยงานฉีดกลางขององค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด จำนวน 1 ล้านโดสคิดเป็น 10% ของสัดส่วนวัคซีนที่จัดหาได้ทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 

จากบทเรียนครั้งก่อน กรุงเทพมหานคร เหมือนมีตัวเลขฉีดวัคซีนได้มาก แต่หากดูจากกลุ่มเป้าหมายหลัก ของระบบสาธารณสุขคือผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง กรุงเทพมหานครฉีดผู้สูงอายุได้เพียง 3.14 % และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังได้เพียง 3.8 % ของเป้าหมายเท่านั้น สิ่งนี้อธิบายสาเหตุของไอซียูและเครื่องช่วยหายใจที่ไม่พอได้ระดับหนึ่ง และถ้ายังคงฉีดวัคซีนแบบเดิม คงไม่ช่วยทำให้สถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ดีขึ้น

ปัญหาการจัดการวัคซีนกรุงเทพมหานคร​มาจากการแพทย์ปฐมภูมิที่อ่อนแอ ไม่สามารถสำรวจและเข้าถึงทุกครัวเรือนเหมือนอย่าง อสม. ต่างจังหวัด เดือนกรกฎาคม เฉพาะกรุงเทพมหานครที่ได้วัคซีน ถึง 2.5 ล้านโดส เห็นความพยายามจากหน่วยงานที่จะฉีดแก่กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยงมากขึ้น

แต่หากถามถึงจำนวนวัคซีนในเดือนถัดไป ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพา วัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา เป็นหลัก เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ที่ลงนามในสัญญาจัดซื้อแล้ววันนี้ (20 ก.ค.) จะได้รับในเดือนตุลาคม 

ดังนั้น ห้วงเวลา 2-3 เดือนนี้ประเทศไทยจึงอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของวัคซีน และยังคงต้องพึ่งพาวัคซีนซิโนแวคที่สะดวกซื้อ ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS