เลขาธิการ กพฐ. เคาะ! อนุญาตให้โรงเรียนใช้เงินอุดหนุนรายหัว “ซื้อซิม – ชั่วโมงอินเทอร์เน็ต” สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ช่วงโควิด-19 แต่ต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ. ) ลงนามในหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 เกี่ยวกับ “แนวทางสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2 รายการ
1.) รายการค่าใช้จ่ายการเรียนการสอน ลักษณะการใช้งบประมาณ “โรงเรียนสามารถนำเงินอุดหนุนรายการนี้ไปใช้เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของครูได้ เช่น การเช่าซื้อ จัดหาซอฟต์แวร์สำหรับการสื่อสารทางไกล การจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ของครู เป็นต้น” โดยโรงเรียนปรับแผนปฏิบัติการประจำปี / แผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการประจำปีต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.) รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่น การผลิตสื่อ ใบงาน แบบฝึกหัด และค่าใช้จ่ายในการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพิ่มเติม “สามารถนำไปใช้ในการจัดหาอินเทอร์เน็ตซิม หรือชั่วโมงอินเทอร์เน็ตสำหรับนักเรียน เพื่อใช้ในการเรียนการสอน” เป็นต้น
เลขาธิการ กพฐ. ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งสถานศึกษาในสังกัดทราบและถือปฏิบัติ พร้อมทั้งตรวจสอบ กำชับ ติดตามการดำเนินงานตามแนวทาง และบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2564 ให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
ชื่นชมนโยบายตัดสินใจเหมาะสมกับสถานการณ์
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กชื่นชมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ตัดสินใจปลดล็อกการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปีการศึกษา 2564 ที่มีแนวโน้มว่าโรงเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือในพื้นที่คลัสเตอร์การระบาดโควิด-19 ต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในระเบียบการใช้งบประมาณต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่สามารถซื้อซิมอินเทอร์เน็ต หรือชั่วโมงอินเทอร์เน็ต เยียวยาผลกระทบด้านการศึกษาได้
ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น ผศ.อรรถพล กล่าวว่า มาจากการผลักดันของนักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ช่วยกันสื่อสารและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ส่งต่อไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ ได้เสนอให้โรงเรียนในสังกัดอื่น ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเช่นกัน