DGA ร่วมมือ สปสช. สร้างระบบ ‘Virtual Hospital’ แก้ปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ระดมทีมแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศ รองรับผู้ป่วย 3 หมื่นคน พร้อมกระบวนการส่งต่อ หากเข้าเกณฑ์ต้องรักษาในโรงพยาบาล
The Active คุยกับ “ณพิชญา เทพรอด” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ถึงกลไกการทำงานของ “BKK HI/CI CARE” Virtual Hospital และแดชบอร์ดล่าสุด ที่ถูกพัฒนาเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียวคืออาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ ที่อยู่ในระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้าน Home Isolation ได้ โดยมีแพทย์คอยดูแลติดตามประเมินอาการผ่านทางออนไลน์ และจ่ายยา พร้อมจัดส่งอาหารผ่านทางดิลิเวอรี
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า หลังจากผู้ป่วยลงทะเบียนผ่าน สปสช. แล้ว จะได้รับการประเมินอาการเบื้องต้น เมื่อพบว่าเป็นกลุ่มอาการสีเขียวและสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ จะได้รับการจัดสรรการส่งต่อมายังสำนักอนามัย กทม. และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีทีมแพทย์ดูแลอยู่ โดยแพทย์ก็จะมาจับคู่กับผู้ป่วย ให้ลงทะเบียนผ่านทางคลินิกออนไลน์ หรือ ระบบ BKK HI/CI Care ได้ทันที ในรูปแบบของเวอร์ชวลฮอสพิทอล (Virtual Hospital) ซึ่งในระบบก็จะมีเตียงที่จะเป็นหน่วยรองรับผู้ป่วย
หนึ่งหน่วยบริการมี 200 เตียง ซึ่งผู้ป่วยจะเสมือนเป็นคนไข้ที่แอดมิดในโรงพยาบาล ผู้ป่วยทุกคนจะแอดไลน์ เข้าสู่กลุ่มการดูแลของคุณหมอ คุณหมอหนึ่งท่านดูแลผู้ป่วย 30 คน และจะมีการติดตามอาการบันทึกข้อมูลผ่านระบบฐานข้อมูล BKK HI CARE ซึ่งมีทั้งข้อมูลว่าค่าออกซิเจนเป็นอย่างไร อุณหภูมิในแต่ละวันเป็นอย่างไร และจะได้รับการจัดสรรอาหาร พร้อมติดตามว่าผู้ป่วยรับประทานได้ดีหรือไม่อย่างไร หากต้องการคุยกับคุณหมอก็จะสามารถคอลผ่านออนไลน์ได้เลย
ณพิชญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และทีมสหวิชาชีพที่จะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยผ่านระบบนี้ ได้รับการจัดสรรมาจากสำนักอนามัย กทม. และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลคนไข้ รวมกว่า 1,000 คน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เช่น อเมริกา 146 คน สิงคโปร์ 72 คน เวียดนาม 54 คน สวีเดน 25 คน ไอร์แลนด์ 21 คน ฮ่องกง 14 คน
เราสามารถดูแลผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติได้ด้วย เพราะแพทย์อาสาจากต่างชาติสามารถสื่อสารได้ดี โดยระบบก็จะมีการลงทะเบียนสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย โดยคาดว่า จะรองรับผู้ป่วยทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวม ๆ ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ซึ่งขณะนี้นับตั้งแต่เปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบแล้วประมาณ 10,000 คน
สำหรับผู้ป่วยที่ยกระดับอาการรุนแรงมากขึ้นเป็นกลุ่มสีเหลืองสีแดงจะถูกส่งต่อไปยังระบบ referral coordination (RC) เป็นระบบที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับกลุ่มอาการสีเหลืองและแดงจาก “BKK HI/CI CARE” โดยเฉพาะ จากความร่วมมือของกรมการแพทย์ สปสช. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับผู้ป่วยในทุกระดับอาการและจัดกลุ่มผู้ป่วยแต่ละกลุ่มสีพร้อมส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองสีแดงไปยังโรงพยาบาล ซึ่งฐานข้อมูลนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้กระบวนการรักษาเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในระบบจะมีเครื่องมือโลเคชั่นแทรคกิ้งเพื่อจะให้ผู้ป่วยปักหมุดที่อยู่ของตัวเอง เพื่อรับอาหาร ยา หรือในกรณีฉุกเฉินก็จะมีรถรับผู้ป่วยได้ตามที่อยู่ที่ให้ไว้ ช่วยอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ทั้งในส่วนของแพทย์และผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น และลดความกังวลใจ ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลในเครือข่ายที่จะรับช่วงดูแลผู้ป่วยได้ เรายังทำงานร่วมกับเครือข่ายสตาร์ทอัพ ภาคเอกชน เพื่อรองรับผู้ป่วยผ่าน Hospitel ด้วย