‘รอง ผอ.องค์การเภสัชฯ’ แจง สิ้นเดือน ส.ค. 64 ‘ฟาวิพิราเวียร์’ เข้าไทย 68 ล้านเม็ด ส่วนกำลังการผลิตในไทยทำได้มากกว่า 100 ล้านเม็ด หากรู้จำนวนชัดเจน ‘หมอนิธิพัฒน์’ กังวลการกระจายลงพื้นที่ไม่ถึงผู้ป่วย
5 ส.ค. 2564 – ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีจำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ ในประเทศไทยว่า ปัจจุบัน ทางองค์การฯ ไม่ได้เก็บยาสต็อกเอาไว้ จะกระจายออกไปให้กับหน่วยงาน ซึ่งได้รับพิจารณามาจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงส่วนที่ต้องกันไว้เพื่อขายให้กับโรงพยาบาลเอกชนด้วย คาดว่าในช่วงนี้จะมีอยู่ประมาณ 3 – 4 ล้านเม็ด กระจายทั่วประเทศ และ อภ. จะสามารถผลิตได้วันละ 3 แสนเม็ดกระจายไปในทุกวันด้วย
“กำลังการผลิตของเรา ที่บอกไว้ตอนแรกว่าเดือนละ 40 ล้านเม็ดนั้น จริง ๆ วันนี้ของเรา 100 ล้านเม็ด เราก็ทำได้ เพียงแต่ต้องรู้ตัวเลข และเตรียมเครื่องมือ สถานที่ คนให้พร้อม จึงบอกได้เลยว่า 100 ล้านเม็ดต่อเดือนก็ผลิตได้”
ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ
สำหรับกำลังการผลิตและการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ของ อภ. นั้น สามารถผลิตได้ตามความต้องการที่แน่นอนของกระทรวงสาธารณสุข ว่าต้องใช้จำนวนเท่าไร ซึ่งจะสามารถผลิตได้ถึง 100 ล้านเม็ดต่อเดือน เพียงแต่ต้องทราบจำนวนล่วงหน้าเพื่อเตรียมเครื่องมือ สถานที่ และกำลังคนไว้ให้พร้อม ยืนยันว่าในเดือนตุลาคมหากยังมีความต้องการใช้ยาจำนวนมาก องค์การฯพร้อมเร่งกำลังการผลิตให้
ขณะเดียวกันภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนหน้านี้จะได้ยินข่าวว่า อภ. จะนำเข้ามาจำนวน 40 ล้านเม็ด แต่ในปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศ จึงได้ทำการติดต่อบริษัทผู้ผลิตในหลายประเทศทั้ง ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย เพื่อสั่งซื้อยาเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวน 68 ล้านเม็ดภายในเดือนสิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตามการส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับประเทศไทยนั้น บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถส่งมาให้ได้ทั้งหมดในคราวเดียว เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่มีความต้องการยาไม่แพ้กับเรา จึงต้องมีการทยอยส่งมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์ เป็นต้น
‘หมอนิธิพัฒน์’ ไม่ห่วงปริมาณยา และกังวลการกระจายให้กับผู้ป่วย
รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ กล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยที่ต้องการ เพราะในตอนนี้โรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งในต่างจังหวัดประสบปัญหา การส่งต่อจากแม่ข่ายที่รับยาจากองค์การเภสัชกรรม อาจจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งที่ล่าช้า และในขณะเดียวกันในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดในปริมณฑล ที่มีผู้ป่วยรักษาตัวแบบ Home Isolation และ Community Isolation ก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากซึ่งรอยาอยู่ด้วย
“โดยส่วนตัวไม่กังวลกำลังการผลิตและการนำเข้า แต่ปัญหาอยู่ที่การกระจายยาไปยังจุดที่ต้องการใช้ยา มากกว่าประเด็นการขาดยา ในวันนี้มันดูเหมือนไม่มียา แต่จริง ๆ แล้วมียา แค่กระจายไปไม่ถึงผู้ป่วย”
รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
นอกจากนี้ยังมองว่าระบบที่ภาครัฐเตรียมเอาไว้ในการส่งต่อยาให้กับผู้ป่วยยังไม่เพียงพอ เพราะในพื้นที่นอกโรงพยาบาลยังมีความต้องการอยู่ ยกตัวอย่างกรณีของแพทย์ชนบทที่ลงไปตรวจคัดกรองเชิงรุก และนำยาไปมองให้ได้ ก็ถือเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐต้องคิดหาวิธีมาเติมเต็มส่วนที่ขาดตรงนี้ให้ได้
สถานการณ์สิ้นหวัง ควรขยายการจ่ายยา อย่าเพิ่งห่วงการดื้อยา
สำหรับ ประเด็นการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับคนไข้นั้น รศ. นพ.นิธิพัฒน์ มองว่าสามารถจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์กับคนไข้ได้เลย โดยที่ยังไม่ต้องกังวลต่อการดื้อยา เนื่องด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างคับขัน หรือเป็น “สถานการณ์ที่สิ้นหวัง” ควรขยายการจ่ายยาให้ครอบคลุม 80% ของจำนวนคนไข้ เพราะยังไม่มีใครตอบได้ว่าอาการดื้อยาจะเกิดได้อย่างไร แต่โดยหลักการคือถ้าใช้ยาจำนวนมาก ๆ เชื้อก็จะดื้อยา หากจะรอข้อมูลอาจจะต้องรอจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิต และใช้ยาอย่างแพร่หลายว่า จะมีข้อสรุปว่าเชื้อดื้อยานี้หรือไม่
“ยาฟาวิพิราเวียร์” ถือเป็นยาจำเป็นที่ใช้ต้านไวรัสโควิด-19 ในผู้ป่วยในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้เห็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐนำเข้ายา และผลิตยาให้พอต่อความต้องการในสถานการณ์นี้ และในขณะเดียวกับโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ในจำนวนผู้ป่วยที่ควรได้ยา สามารถได้รับยาโดยไม่ตกหล่น เพราะช่วงเวลาที่เสียไประหว่างรอยา อาจหมายถึงอาการที่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตผู้ป่วยด้วย