เล็งดึงร้านขายยากระจาย ‘ฟาวิพิราเวียร์’ แก้ปัญหาคอขวดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19

บอร์ด สปสช. ไฟเขียวเหมาจ่ายค่ารักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก 1,000 บาท/คน “อดีตนายกสภาเภสัชกรรม” เห็นด้วยกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านร้านขายยา แต่ต้องมีข้อกำหนดชัดเจน และจ่ายยาเท่าที่จำเป็นป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา

15 มี.ค. 2565 หลังอาการของโควิด-19 ลดความรุนแรงลง กระทรวงสาธารณสุข ปรับมาใช้รูปแบบ เจอ แจก จบ ตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน มีค่าบริการดูแลรักษา จ่ายชดเชยในลักษณะเหมาจ่าย 1,000 บาท/คนประกอบด้วย 

  • ค่าบริการให้คำแนะนำการแยกกักตัวที่บ้าน 
  • การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด-19 รวมค่าจัดส่ง ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด 
  • ยาตามอาการอื่นๆ การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง 
  • การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า ที่ประชุมยังแสดงความกังวลว่าการจัดบริการในลักษณะผู้ป่วยนอกอาจจะไม่สามารถครอบคลุมการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากได้ เพราะที่สุดแล้วก็จะมีปัญหาคอขวดที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่ดี จึงเสนอให้ร้านยาต่างๆ เข้ามาช่วยเป็นจุดกระจายยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ อีกทางหนึ่งโดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้

สำหรับประเด็น ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษที่ไม่มีขายในร้านขายยา รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม เห็นว่า หาก โควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น การกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ไปสู่ร้านขายยาก็เป็นสิ่งจำเป็น และเชื่อว่าเภสัชกรซึ่งร่ำเรียนมาถึง 6 ปี มีความรู้มากพอที่จะประเมินอาการผู้ป่วยและจ่ายยาตามความจำเป็นได้

แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขการจ่ายยาให้ชัดเจนว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการถึงระดับไหนถึงจะต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งปัจจุบันประเทศญี่ปุ่น ที่คิดค้นยานี้ก็เริ่มไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยพบว่าผลการรักษาไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจร ข้อควรระวังคือต้องจ่ายยาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา

“เภสัชกรประเมินอาการเองได้​ ถ้ามีข้อกำหนดการจ่ายยา​ เช่น​ ต้องมีไข้​ มีอาการกี่วัน​ อะไรบ้าง​ ถ้ายังไม่มีอาการ​ ไม่มีไข้​ ไม่ไอมาก​ ก็รักษาตามอาการให้ยาลดไอ​ ลดไข้​ เรียบ​ร้อยควบคุม​ได้​ก็จบ การให้ร้านยาเป็นหน่วยให้บริการคนติดโควิด​ อาจารย์​ว่ามันเพิ่มการเข้าถึงของชาวบ้าน” 

รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS