ตรวจทิ้งทวน 26 จุดวันสุดท้าย เปิด ข้อเสนอต่อยอดภารกิจ “แพทย์ชนบท”

เปิดข้อเสนอจาก “อาสาสมัคร” เบื้องหลังปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 พร้อมความคืบหน้าตั้ง “ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อฯ ในชุมชน” แห่งที่สองในคลองเตย ‘ภาคประชาชน’ จี้รัฐบาลกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าถึงคนรักษาที่บ้าน ‘อภ.’ ผลิตยาเองล็อตแรก ประเดิมแจกเชิงรุกในชุมชน

นับถอยหลังก่อนสิ้นสุด ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 นำโดย “ชมรมแพทย์ชนบท” จำนวน 33 ทีมจาก 30 จังหวัด ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ 6 ยุทธศาสตร์กระจายจุดบริการตรวจเชื้อเชิงรุกเป็นดาวกระจาย 24 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเพิ่มเป้าหมายเชิงรุกให้มากขึ้น เช่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดจุดบริการที่วัดม่วง แขวงหลักสอง เขตบางแค รับตรวจประชาชน 5,000 คน, ทีมโรงพยาบาลมาบตาพุด จ.ระยอง รวมทีมกับ จ.เพชรบูรณ์ ตรวจเชิงรุกที่วัดราษฎร์บูรณะ 1,800 คน เป็นต้น เพื่อให้ได้เป้าหมายมากกว่า 30,000 คน

สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันว่า ผลกระทบการระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ทำให้เกิดวิกฤตคนจนเมือง และทำให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ยากจนเรื่องสุขภาพ เพราะโครงสร้างระบบสาธารณสุขเขตเมืองไม่สามารถรับมือความเจ็บป่วยของผู้คนจำนวนมากได้ ทั้งที่มีทรัพยากรทุกด้านมากกว่าที่อื่นในประเทศ ทั้งบุคลากรการแพทย์ จำนวนสถานพยาบาล งบประมาณ เทคโนโลยีการแพทย์ต่าง ๆ 

นพ.สุภัทร ระบุว่า ปฏิบัติการกู้ภัยโควิดกรุงเทพฯ เป็นทีมจรยุทธ 7 วัน เป้าหมายคือ ‘ตรวจเร็ว รักษาเร็ว และรีบสร้างภูมิคุ้มกันทันที’ ในหนึ่งวัน เพื่อลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย ลดความต้องการเตียงในระบบสุขภาพ แต่หลังจากนี้จะเกิดต่อเนื่องขึ้นได้อย่างไรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดในประเทศ ข้อสังเกตหนึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่า พื้นที่ชุมชนแออัดโซนหนึ่งก็ติดเชื้อขยายวงกว้าง แต่ก็ยังมีบางหย่อมที่ บางพื้นที่ที่ยังไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าไม่มีการป้องกันตรวจเชื้อเชิงรุกตัดวงจรระบาด ไม่นาน พื้นที่ที่ยังไม่มีการติดเชื้อก็จะติดทั้งหมด 

การตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพ รัฐบาลไม่ควรโทษว่าประชาชนประมาทการ์ดตก ไม่ป้องกันตนเอง เพราะฐานชีวิตของผู้คนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนจนเมืองที่อยู่กันอย่างแออัด ไม่สามารถสร้างระยะห่างทางกายภาพได้ การที่ไม่จัดระบบสาธาณสุขให้ดี ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดปรากฏการณ์โรงพยาบาลไม่มีเตียงรักษาผู้ป่วย มีคนตายจากโควิด-19 มากถึง 6,353 คน และตายคาบ้านมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์และสาธารณสุขดีติดอันดับโลก”

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท

วันเดียวกัน นพ.สุภัทร ไปตรวจเชื้อผู้ป่วยติดบ้านสูงอายุคนหนึ่งในชุมชนสุเหร่าทรายกองดิน เขตมีนบุรี เนื่องจากครอบครัวนี้อยู่กัน 4 คน ลูกชายติดเชื้อแล้วหนึ่งคน อีกสามคนผลตรวจ ATK เป็นลบ ทว่ากังวลว่าจะติดผู้ป่วยที่อยู่ติดบ้าน ปรากฏว่าเขาเป็นชาวโรฮิงยาที่หนีภัยความตายมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่เด็ก และไม่มีบัตรประชาชน ที่ผ่านมาจึงไม่กล้าไปรักษาพยาบาลที่ไหน 

“การมีอคติไม่ตรวจเชื้อ ไม่รักษา และไม่ให้วัคซีนป้องกันโรคด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นอื่น เป็นคนต่างด้าว ไม่มีบัตรประชาชน เป็นเรื่องที่ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามได้สักที และหากยังเพิกเฉยเรื่องแรงงานข้ามชาติที่อาศัยปะปนอยู่ในชุมชนแออัดก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำวนเวียนไปม่จบ ปัญหาการระบาดในชุมชนไม่จบสักที”

อุปสรรคของการรักษาตัวที่บ้าน

นพ.สุภัทร ยังระบุอีกว่า ขณะนี้มีคนต้องจำนนกับสถานการณ์รักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ตกหล่นอยู่ในถังกลางของของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) นับหมื่นคน ไม่มีหน่วยบริการไปช้อนดูแลด้วยระบบวิดีโอ คอล หรือเทเลเมดิซิน ทำให้เขาเข้าไม่ถึงยาลดการติดเชื้อฟาวิพิราเวียร์ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย พัฒนาเป็นผู้ป่วยอาการหนักได้

ประเด็นจำนวนผู้ที่ยังตกค้างไม่เข้าสู่ระบบอีกเป็นจำนวนมาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ยอมรับว่า แม้จะมีการจับคู่คลินิกอบอุ่น เพื่อดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน  แต่บางส่วนยังไม่ได้รับผู้ป่วยเข้าไปรักษา จึงตกค้างอยู่ 10,000 กว่าคน ในจำนวนนี้มี 3,000 คน ตกค้างมานานกว่า 5 วัน สปสช. จึงปรับคอลเซ็นเตอร์ สายด่วน 1330 ที่คอยรับสายหาเตียงบางส่วน มาโทรกลับไปถามประชาชนที่ตกค้างอยู่นานเกิน 5 วัน เพื่อประเมินอาการ พบว่าในจำนวน 3,000 คน 2,500 คน เข้าระบบอื่นไปแล้ว อีก 500 คนยังไม่ได้เข้าระบบ และจำเป็นต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที เนื่องจากตกค้างอยู่นาน จึงเริ่มส่งยาไปให้ผู้ป่วยเหล่านั้นโดยไม่ต้องรอการจับคู่คลินิก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.
นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนภาคประชาชน หนึ่งในกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า การตรวจเชื้อชิงรุกครั้งนี้ ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าว่า ตรวจเชื้อเร็ว รักษาเร็ว ซึ่งการรักษาเร็วคือการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ได้เร็ว และเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคของประเทศไทย

ที่ผ่านมา สธ. สามารถอ้างได้ว่ายามีจำนวนจำกัด เพราะต้องนำเข้าจากบริษัท ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น และจ่ายยานี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักในโรงพยาบาล จนไม่สามารถคุมการระบาดและผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก แต่เมื่อภาคประชาชนสู้เพื่อให้บริษัทยาดังกล่าวถอนสิทธิบัตรในประเทศไทย และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตได้เองแล้ว ทำให้ต้นทุนราคายาจากเม็ดละ 120 บาท คนหนึ่งต้องกินอย่างน้อย 50 เม็ด เมื่อก่อนหวงแหนยามาก 

“แต่ขณะนี้ อภ. ทำหน้าที่ความมั่นคงด้านยาสามารถผลิตเองราคาลดลงเหลือเม็ดละ 13-14 บาท ไม่เป็นข้ออ้าง ‘เอาชีวิตคนขึ้นอยู่กับราคายาแล้ว’ สธ. และรัฐบาลอย่าพูดเรื่องยาแพง อย่าทำร้ายคนมากกว่านี้ ควรกระจายยาให้มีประสิทธิภาพ”

เขาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีผู้ป่วย HI ประมาณ 60,000 คน ไม่ปล่อยให้เขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทำอย่างไรจะกระจายยาต้านไวรัสไปให้ถึงสถานพยาบาลใกล้บ้าน คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลให้หน่วยบริการเหล่านี้สามารถนำยาไปให้คนที่รักษาตัวที่บ้านได้

ถ้ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อวันวันละ 20,000 คน ความจำเป็นของการใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้กับผู้ป่วยในประเทศไทยจะอยู่ที่ราว 30 ล้านเม็ดต่อเดือน ตัวเลขนี้ คือการประเมินที่ตรงกันของ สปสช. และสภาเภสัชกรรม

“วันนี้เป็นวันแรก ที่นำยาฟาวิพิราเวียร์ล็อตแรกขององค์การเภสัชกรรมาแจกให้ประชาชนที่มาตรวจเชิงรุกกับชมรมแพทย์ชนบท”

‘อาสาสมัคร’ คือ ทีมหลังบ้านปฏิบัติการแพทย์ชนบท

ต้องยอมรับว่า ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ทั้ง 3 ครั้ง มีอาสาสมัครอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่เป็นคนสำรวจข้อมูลชุมชนที่เป็นจุดเปราะบางและประสานให้มาตรวจในจุดต่าง ๆ การระดมอาสาสมัครเพื่อจัดสถานที่ รับลงทะเบียน และล่าสุดในครั้งสุดท้าย คืออาสาสมัครในการคีย์ข้อมูลผู้รับบริหารจำนวนมากเข้าสู่ระบบดิจิทัลของ สปสช. เป็นฐานข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน การฉีดวัคซีนเชิงรุก และการจ่ายยาต้านไวรัส ทุกคนมาเป็นอาสาสมัครจากใจที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหากรระบาดที่น่ากังวล จนต้องทำอะไรสักอย่าง

ณ จุดบริหารแฟลต G เขตดินแดง อรจิรา บุญรัตนสมัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมาช่วยรับลงทะเบียนและคีย์ข้อมูลเข้าสู่ระบบ กล่าวว่า  5 วันที่มาเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่นี้ ทำให้เห็นว่าปัญหาเชิงระบบและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน และต้องได้รับการดูแล เขาไม่ควรอยู่อย่างโดดเดี่ยว จะทำอย่างไรให้ระบบการแทพย์ สปสช. สามารถจัดทีมส่งยาตามบ้านได้ และคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรวจเชิงรุกกับแพทย์ชนบทจะเข้าถึงระบบเช่นนี้ได้อย่างไร และหวังว่าในอนาคตประชาชนจะได้รับวัคซีนรวดเร็วและมีคุณภาพที่ดี 

“เห็นกลุ่มคนเปราะบางจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อเชิงรุกและการรักษาด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ สะเทือนใจมาก”

อัครินทร์ ทีปสิริคัมภีร์ นักศึกษามหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาที่เขาเห็น “มีแล็บเอกชนจำนวนมากที่รับตรวจเชื้อ แต่ไม่สามารถทำให้คนที่ติดเชื้อเข้าสู่ระบบได้ และเป็นการตรวจเชื้อที่พวกเขาจ่ายเงินเองจำนวนมาก ทั้งที่เขาเป็นคนจนเมือง ทำให้เขาต้องมาตรวจกับชมรมแพทย์ชนบทเพื่อให้ตัวเองได้เข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล”

อุกฤต ชัยเกษมสุข นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาเรียนออนไลน์ที่บ้าน และเคยติดเชื้อโควิดจนรักษาหายแล้ว จึงมาเป็นอาสาสมัครช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลสื่อสาร หรือประชาสัมพันธ์การตรวจเชื้อเชิงรุกหลากหลายช่องทาง อย่าใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เพราะกลุ่มคนจนเมืองเขาไม่ถึงอินเทอร์เน็ต คนจำนวนมากที่มาตรวจเชื้อนี้ทราบข่าวจากเสียงตามสายของชุมชน หรือการรับแจ้งข่าวสารของผู้นำชุมชนและเครือข่ายของนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้คนอีกจำนวนมากพลาดโอการการเข้าถึงการตรวจเชื้อเร็ว รักษาเร็ว

ด้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เขาเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครส่งยาต้านไวรัสให้คลินิกพริบตาของสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) มาก่อน ยอมรับว่าการเป็นอาสาสมัครในจุดบริการของแพทย์ชนบทครั้งนี้ หนักหนากว่าทุกงานอาสาสมัครหลายงานที่เคยทำมาก่อน ความเป็นนักกิจกรรมที่มีประสบการณ์ทำให้เขาช่วยได้มากกว่าการลงทะเบียน เขามักจะมาเป็นคนแรก ๆ ในจุดบริการและช่วยจัดสถานที่ ช่วยจัดระบบการทำงานแต่ละจุดให้ไหลลื่นไม่เป็นคอขวด สะท้อนการทำงานว่า (1) งานนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ ดังนั้น อาสาสมัครทุกคนต้องเรียนรู้ในการป้องกันตนเองอย่างดี และหากการจัดการไม่ดี การระดมคนมาตรวจเชิงรุกจำนวนมากในสถานที่ที่มีข้อจำกัดอาจกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ได้

(2) ระบบงานที่คนหลังบ้านออกแบบไว้มีความซับซ้อน อาจเป็นเพราะที่มาของงบประมาณมาจากหลายส่วนราชการ องค์กร ทำให้ประชาชนต้องลงทะเขียนถึง 6 ครั้งคือ ตั้งแต่ลงทะเบียนกับแกนนำชุมชนเพื่อให้ทราบจำนวนและยอดในการเข้ารับบริการแต่ละจุด เสมือนการจองคิวตรวจมาล่วงหน้า ลงทะเบียนเพื่อเข้าระบบออนไลน์ของ สปสช. ครั้งที่สาม ลงทะเบียนเพื่อรับอุปกรณ์ในการตรวจหาเชื้อ ATK อาจเป็นเหตุผลด้านห้องปฏิบัติการ ถ้าผลออกมาเป็นบวก ติดเชื้อ ต้องลงทะเบียนรับยา ตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีก เอกซเรย์ปอด ลงทะเบียนเข้าระบบรักษาตัวที่บ้าน ถ้าไม่ติดเชื้อ ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนอันนี้ก็มีเหตุผลเพื่อนำเข้าระบบหมอพร้อมให้มีการนัดหมายฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 

เพื่อแบ่งเบาภาระงานของทีมแพทย์ทำให้อาสาสมัคร 1 คนอาจต้องรับลงทะเบียนและพูดคุยกับผู้คนอย่างน้อย 100-500 คนต่อวัน

(3) ถ้าชุดตรวจ ATK เป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรอง แยกผู้ติดเชื้ออกมารักษาให้เร็วเป็นขั้นต้น เพื่อปลายทางลดจำนวนผู้ป่วยที่ตอ้งการเตียงให้น้อยลง หรือลดอัตราการตายได้ แต่สังเกตว่าเงินกู้ส่วนใหญ่นำมาเป็นเงินชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดมิติต่าง ๆ ทำไมรัฐไม่ลงทุนเรื่องการตรวจคัดกรองให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่แรก และชุดตรวจมีราคาแพงชิ้นละ 350 บาท ประชาชนในกลุ่มคนจนเมืองจะเข้าถึงได้อย่างไร 

(4) เห็นว่าระบบการรักษาตัวที่บ้านยังไม่พร้อมดีนัก และบางคนก็มีข้อจำกัดไม่สามรถรักษาตัวที่บ้านได้ จำเป็นต้องไปศูนย์พักคอย ทว่า ศุนย์พักคอยมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยหรือไม่

(5) จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเห็นคน 3 กลุ่มคือ ถ้าเดินมาเป็นกลุ่มด้วยกัน จะพบการติดเชื้อทั้งบ้าน บางครัวเรือนติดเชื้อบางคน ทำให้คนไม่ติดเชื้อกังวลมากว่าจะต้องไปตรวจเชื้อครั้งต่อไปที่ไหนเพราะเขากลายเป็นคนเสี่ยงสูงแล้ว และกลุ่มสุดท้าย ถ้ารอดก็รอดทั้งบ้าน เห็นอารมณ์ความรู้สึกผู้คนที่หลากหลายมาก 

ส่วนที่โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน เขตมีนบุรี มีอาสาสมัครจำนวนมากเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจคัดกรองเชิงรุก ร่วมกับทีมแพทย์ชนบท

บุบผา ยุดา จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้ที่มีประสบการณ์ขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่ศัยเพื่อให้ชาวชุมชนแออัดสามารถมีบ้านมั่นคง เคยทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูลมาก่อน ทันทีที่อาสาเข้ามาร่วมปฏิบัติการในจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกกับแพทย์ชนบท เธอจึงรับหน้าที่ซักประวัติผู้ที่ตรวจแล้วพบเชื้อ จดบันทึกข้อมูล ก่อนส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัยสั่งจ่ายยา

บุบผา เล่าว่า เข้าร่วมกับทีมแพทย์ชนบทตั้งแต่วันแรกที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ในละวันจะมีอาสาสมัครจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กระจายลงพื้นที่ ทุกจุดที่มีการเปิดจุดตรวจจุดละ 3 คน ทำงานคู่กับแพทย์ชนบท

“อาสามาทำงานวันแรก น๊อคเลย เพราะไม่คุ้นกับเสื้อพลาสติกกันเชื้อ ชุด PPE ทำให้ร้อนมาก เหงื่อออกมาก เลยต้องหยุดไปพักฟื้น 1 วัน พอเจอกับตัวเองแล้วสงสารหมอ วันต่อมาก็มาช่วยหมออีก ตอนนี้เริ่มชินกับชุดบ้างแล้ว ที่ต้องใส่เพราะเราคุยกับผู้ติดเชื้อวันละร้อยกว่าคน ร้อนก็ต้องทน หมอยังทำได้ เราก็ต้องทำได้ ดีกว่านั่งรออยู่บ้านเฉย ๆ 

คลองเตยคืบหน้า ตั้ง “ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน”

พื้นที่ที่ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท คือ โรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และทีมจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เกาะติดกันต่อเนื่อง คือ ชุมชนคลองเตย ซึ่งสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เพราะการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกของแพทย์ชนบท 2 วันที่ผ่านมา ตรวจด้วย ATK เกือบ 2,000 คน พบผู้ติดเชื้อแล้ว 321 คน จากความเป็นชุมชนแออัด บ้านหนึ่งอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่หลายคน หากพบผู้ติดเชื้อ การกักตัวเพื่อรักษาที่บ้านแทบเป็นไปไม่ได้ทั้งหมดในหลายครอบครัว แนวทางสำคัญคือการแยกตัวผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการ หรืออาการน้อยออกจากครอบครัวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ 

ทั้งยังมีความคืบหน้าการจัดตั้ง “สถานที่พักคอยในชุมชน” หรือ Community Isolation:CI  แห่งที่ 2 ในชุมชนคลองเตย จำนวน 240 เตียง และจะเป็นต้นแบบอีกครั้งในการเป็น “ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย” หรือ Community COVID 19 Care Center โดยทีมแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลนวเวศ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนจากเขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่จับคู่ในการดูแลศูนย์นี้ กำลังดำเนินการจัดเตรียมสถานที่ ณ โกดังสเตเดียม ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร สภาองค์กรชุมชน สหกรณ์เคหะสถานชุมชนคลองเตย มูลนิธิดวงประทีป กลุ่มคลองเตยดีจัง เพื่อร่วมกันวางแผนเตรียมพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 

“ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย” แห่งนี้ มี หิมาลัย ผิวพรรณ เป็นคณะกรรมการอำนวยการ, ประทีป อึ้งทรงธรรมฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ในฐานะเลขาคณะกรรมการอำนวยการ เป็นประธานคณะทำงาน มี นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท เป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยตั้งเป้าสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 240 เตียง ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ และมีแผนจะจัดเป็นโซนแยกกลุ่มครอบครัว / ผู้สูงอายุ / คนทั่วไป อย่างชัดเจน ซึ่งภาครัฐยืนยันพร้อมสนับสนุนชุมชนดำเนินการเรื่องนี้ในทุกพื้นที่

ขณะที่ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.กระทรวงคมนาคม ยืนยัน “ทางกระทรวงเอง และการท่าเรือฯ พร้อมยินดีสนับสนุนชุมชนทุกรูปแบบ ถ้าพื้นที่นี้ทำแล้วมีประสิทธิภาพ และถ้ายังมีพื้นที่ตรงไหนสามารถทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนรอบข้างได้ การท่าเรือฯ ก็พร้อมจะสนับสนุน”

ประทีบ อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป

ด้าน ประทีบ อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ให้ความเห็นว่า ผู้บริหาร กทม. ควรเปลี่ยนวิธีคิดการจัดตั้ง ‘ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน’ เขตละแห่ง 50 เขตมี 50 ศูนย์ฯ  ทว่า ต้องดูบริบทของชุมชนด้วย ว่าแต่ละเขต 50 เขตของ กทม. มีความหนาแน่นของประชากรขนาดไหน ถ้าหากประชากรที่อยู่ในชุมชนแออัดมีความหนาแน่นมาก หนึ่งเขตมีหนึ่งศูนย์อาจไม่เพียงพอ อย่างประสบการณ์พื้นที่คลองเตย วัดสะพานศูนย์แห่งแรก สามารถที่รับผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อคนติดเชื้อล้นออกมาแล้ว ก็ต้องรีบทำแห่งที่สองรองรับด่วน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 2 สัปดาห์ สามารถเปิดรองรับผู้ป่วยได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ 

“ศูนย์พักคอย หรือ CI ของ กทม. จึงน่าจะเป็นอีกข้อต่อสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ภารกิจที่ทีมแพทย์ชนบท และหลายหน่วยงาน ควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้สำเร็จ”

อนึ่ง ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยสู้โควิด-19 ของไทยพีบีเอส ข้อมูลเฉพาะของกรุงเทพฯ ล่าสุดวันที่ 6 สิงหาคม ระบุว่า 

  • มีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ CI ที่เปิดใช้แล้ว 65 แห่ง จาก 50 เขต รองรับผู้ติดเชื้อได้ 8,625 เตียง 
  • ปรับเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม หรือ CI plus จำนวน 7 แห่ง รับได้ 1,036 เตียง 
  • เป็นศูนย์พักคอยชุมชนขนาดเล็ก รับได้ 6-50 เตียงนำร่องไปแล้ว 19 แห่ง รวมทั้งหมดรองรับได้ 462 เตียง 
  • ศูนย์พักคอยในชุมชนขนาดกลาง ดูแลโดยชุมชน หรือผู้นำศาสนา เริ่มที่เขตกรุงธนใต้ 2 แห่ง รับได้ 660 เตียง

ภาพรวม การกระจายจุดตรวจเชิงรุก แพทย์ชนบท

ส่วนบรรยากาศ ณ จุดอื่น ๆ นั้น เช่น จุดตรวจของทีมโรงพยาบาลเชียงราย ที่อาคารเอนกประสงค์ สหกรณ์เคหสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด ซึ่งดูแลชาวบ้านในชุมชนบ่อฝรั่ง ชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้างในเขตจตุจักร มีมอเตอร์ไซค์อาสาพาทีมหมอไปตรวจเชื้อเชิงรุกถึงบ้านผู้สูงอายุติดเตียงเดินทางมาจุดตรวจได้ยากลำบาก 

ทีมจาก จ.พิจิตร และจาก จ.นครสวรรค์ ปักหลักจุดตรวจสหกรณ์ริมคลองสอง ซอยผักหวาน ชุมชนริมคลองลาดพร้าว เขตสายไหม จบการตรวจคนสุดท้าย เมื่อเวลา 18.00 น. คือเด็กอายุขวบเศษ สามารถทำผลงานการตรวจได้เกินเป้าที่กำหนดไว้

ทีมจาก จ.มหาสารคาม ร่วมทีม จ.กาฬสินธุ์ ตรวจรายสุดท้ายเมื่อเวลา 18.00 น. ญาติผู้ป่วยโทรศัพท์มาที่ทีมงานภาคประชาชนว่าจะขอตรวจอีกคนได้ไหม กำลังหารถมา หัวหน้าทีมจึงแจ้งไปว่ามาเพื่อตรวจอยู่แล้ว อยากให้ทุกคนได้ตรวจ ในที่สุด ภาคประชาชนพาผู้ป่วยนอนท้ายรถกะบะมาถึงจุดตรวจได้จึงรีบตรวจให้ทันที สามารถปิดภารกิจที่จุดหมู่บ้านสุวรรณนิเวศน์ นวมินทร์ 42 ยอดผู้รับบริการ 796 ราย พบ ผลบวก 44ราย ร้อยละ 5.5 ตรวจ PCR 44 ราย คือสามารถเก็บตรวจได้ทุกราย

และวันสุดท้าย 10 สิงหาคม แพทย์ชนบทสร้างปรากฏการณ์ตรวจเชิงรุกดาวกระจาย 26 จุดทิ้งทวนที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยทีมโรงพยาบาลศูนย์ มหาราชนครราชสีมารับเต็มพิกัด 5,000 คน จุดตรวจวัดยายร่ม เขตจอมทอง ตั้งเป้าหมายตรวจ 3,000 คน วัดไผ่เงินโชตนาราม เขตบางคอแหลม ตั้งเป้าหมาย 3,000 คน ทีมโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ตั้งจุดตรวจที่โรงเรียนพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน 3,000 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง