เสนอชะลอประมูลเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว จนกว่ามี “ผู้ว่าฯ กทม.” จากการเลือกตั้ง

คณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เตรียมเสนอเข้า ครม. ให้รัฐเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเอกชนประมูลค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย แยกสัมปทานโฆษณาออกจากการเดินรถ 

25 ส.ค. 2564 – สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะเลขานุการคณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค (กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอของคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ต่อ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงานข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมี มานะ โลหะวณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธาน

แฟ้มภาพ: สารี อ๋องสมหวัง

เลขานุการคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ กล่าวถึงปัญหาสำคัญของราคาค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีราคาแพงว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาแพง คือ การขาดนโยบายการวางแผนการกำกับดูแลค่าโดยสารในภาพรวมและไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุดของระบบ จึงทำให้ค่าโดยสารมีราคาแพงจากการคิดค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการยกสัมปทานให้เอกชนดำเนินการทั้งสายโดยไม่มีอำนาจต่อรอง 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศจัดตั้งคณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น คณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ได้จัดการประชุมและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร (กมธ.) ให้ข้อมูลและจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเสนอต่อ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยมีสาระสำคัญของข้อเสนอ ดังนี้ 

  1.  ขอให้รัฐบาลชะลอการตัดสินใจเรื่องสัมปทาน ในระหว่างที่ผู้ว่าราชการยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 
  2. ให้มีการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องให้บริการราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาท ตลอดสาย 
  3. รัฐเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และให้เอกชนเข้ามาประมูล 
  4. แยกสัมปทานการเก็บผลประโยชน์จากสถานีและการโฆษณาออกจากสัมปทานการเดินรถ 
  5. ขอให้รัฐบาลค้ำประกันการจ่ายคืนหนี้ และให้ กทม. กู้หรือนำเงินของกทม. ทยอยจ่ายคืนหนี้เอง โดยใช้รายได้ค่าโดยสารและผลประโยชน์อื่นที่เก็บได้จากสถานีส่วนต่อขยาย

เลขานุการคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ กล่าวอีกว่า กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ในหลายประเด็น ประเด็นสำคัญที่เห็นร่วมกัน คือ กทม. ควรจ่ายหนี้ของตนเองและไม่ควรนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายหนี้ อีกทั้งควรชะลอการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในระหว่างที่ผู้ว่าราชการยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ยังเห็นด้วยว่า รัฐบาลต้องเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมถึงควรแยกสัญญาสัมปทานพื้นที่สถานีและการโฆษณาในสถานีออกจากการเดินรถ เพื่อความโปร่งใสของ กทม. 

ทั้งนี้ หลังจากนี้ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค แจ้งว่าจะจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ จะแจ้งความคืบหน้าข้อเสนอแนะดังกล่าวให้กับผู้บริโภคทราบอย่างต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS