‘เลขาธิการ สช.’ ชี้ มาตรการเรียนอยู่บ้าน ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนขาดสภาพคล่องทางการเงิน เตรียมเสนอ ‘รมว.ศธ.’ พิจารณาสนับสนุนเป็นศูนย์ฝึกอาชีพประชาชนจนพ้นวิกฤตโควิด-19
วันนี้ (25 ส.ค. 2564) อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วยโรงเรียนเอกชนในระบบ 3,986 แห่ง และโรงเรียนเอกชนนอกระบบ 7,789 แห่ง ได้รับผลกระทบในการดำเนินกิจการ
สำหรับโรงเรียนเอกชนในระบบ ผู้ปกครองบางส่วนไม่สามารถจ่ายค่าบำรุงการศึกษา ทำให้โรงเรียนเอกชนสายสามัญหลายแห่งขาดทุนสะสม และมีแนวโน้มขอเลิกกิจการหลังจบภาคเรียน ขณะที่โรงเรียนเอกชนนอกระบบ มีผู้เรียนลดลง ขาดรายได้ แต่ยังคงรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนครู/ผู้สอน และบุคลากร ฯลฯ
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2564 เช่น เตรียมจ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท ให้กับนักเรียน 2,134,978 คน ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 แต่การจัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา และไม่ครอบคลุมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
เลขาธิการ สช. เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ (Upskill Training Center) ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ หรือ ประกอบอาชีพใหม่ ในระหว่างเกิดวิกฤตจนถึงพ้นวิกฤตการระบาดของโควิด-19
“อย่างไรวันนี้ เราก็ต้องก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกันให้ได้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนเกิดภาวะว่างงานหรือเปลี่ยนงานจำนวนมาก การเตรียมประชาชนให้มีงานทำ มีรายได้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ โรงเรียนเอกชนสามารถฝึกงานฝึกอาชีพให้กับประชาชนได้ อาจหางบฯ สักก้อนหนึ่งให้พวกเขาเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ เก็บค่าใช้จ่ายราคาถูก ถ้าทำได้ประชาชนได้ประโยชน์ โรงเรียนเอกชนก็ยังอยู่ได้”
ขณะนี้ สช. เตรียมพร้อมหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้น 1 วัน – ไม่เกิน 3 เดือน ภายใต้กรอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการไว้แล้ว 1,430 หลักสูตร คือ 1.) ภาษาเพื่ออาชีพและการใช้ชีวิต 410 หลักสูตร 2.) การบริบาลดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ครอบครัว และสุขภาพอนามัย 185 หลักสูตร 3.) ดนตรี ขับร้อง ศิลปะการแสดง 156 หลักสูตร 4.) เสริมทักษะ/พัฒนาการ/ช่วยเหลือผู้ปกครอง/กวดวชิาพื้นฐาน/อาชีพเสริมอื่น ๆ 139 หลักสูตร 5.) เสริมสวย 131 หลักสูตร 6.) ขับรถ/ดูแลรักษารถยนต์/การขนส่ง นักบิน Drone 118 หลักสูตร 7.) นวด/สปา/สมุนไพร 98 หลักสูตร 8.) อาหารและเครื่องดื่ม 65 หลักสูตร 9.) เทคโนโลยีสมัยใหม่ 35 หลักสูตร 10.) การบัญชี การจัดการสำนักงาน/โรงแรม 31 หลักสูตร 11.) ตัดเย็บเสื้อผ้า 13 หลักสูตร ฯลฯ
ทั้งนี้ กำลังสำรวจข้อมูลโรงเรียนเอกชนนอกระบบทั่วประเทศ 4 ประเภท คือ วิชาชีพ สร้างเสริมทักษะชีวิต กวดวิชา ดนตรีและกีฬา ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนและมีความพร้อมในการฝึกอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน เตรียมเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการภายในสัปดาห์นี้ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล สำหรับเป็นส่วนลดพิเศษค่าเรียนบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องการฝึกอาชีพ
• อ่านเพิ่ม – ‘โรงเรียนเอกชน’ กระอัก ส่อปิดกิจการ ผู้ปกครองค้างค่าเทอม ‘ครู’ ตกงานกระทันหัน กระทบ ‘เด็ก’ หาที่เรียนใหม่