‘นฤมล’ เชื่อ การศึกษาไทยไม่แพ้ใคร สวนทาง PISA-วัดผลนานาชาติ รั้งท้ายต่อเนื่อง

เล็งดัน 4 นโยบาย ลดภาระครู เพิ่มสวัสดิการ เสริมวิชาประวัติศาสตร์ ปรับหลักสูตรวิทย์ ตามบริบทพื้นที่ ตั้งใจ ไม่ใช้วิธีสั่งการจากบนลงล่าง เน้นส่วนร่วมทุกระดับ ย้ำ “ครอบครัวเดียวกัน” พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังทุกคน

วันนี้ (7 ก.ค. 68) นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ระบุในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครบรอบ 22 ปี โดยระบุการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการวางรากฐานชีวิตที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทย ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และคุณธรรม พร้อมส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ทั้งนี้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมั่นคง อีกทั้งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะการศึกษา คือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ย้ำ ‘การศึกษาไทย’ ไม่แพ้ใครในโลก

นฤมล ยังเน้นย้ำว่า หากมีใครมาบอกว่าการศึกษาไทยสู้ใครไม่ได้ ตนจะเห็นแย้ง เพราะตนเองเป็นหนึ่งในผลผลิตจากระบบการศึกษาของ สพฐ. เคยเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. มาโดยตลอด จึงไม่เห็นด้วยเมื่อมีคนวิจารณ์ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ และคว้าทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ ด้วยคะแนนที่เหนือกว่านักเรียนนานาชาติ สิ่งนี้ยืนยันได้ว่า “การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

“ดิฉันคือผลผลิตจาก สพฐ. เคยเรียนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มาก่อน เมื่อมีคนพูดถึงว่าการศึกษาไทยสู้ใครไม่ได้ ดิฉันไม่เชื่อ เพราะพิสูจน์ได้จากการเรียนของตัวเอง ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศ และคว้าทุนไปเรียนต่อต่างประเทศได้ ด้วยคะแนนที่สูงกว่านักเรียนนานาชาติ จึงขอยืนยันว่าการศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

รมว.ศธ. ระบุด้วยว่า แม้การศึกษาไทยจะมีจุดแข็งหลายด้าน แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา โดยขอฝากถึงผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร สพฐ. ครู และบุคลากรทุกคนให้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะใน 4 ด้านสำคัญที่ควรผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

  • ลดภาระงานครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูกว่า 500,000 คนทั่วประเทศ มีเวลาเต็มที่ในการพัฒนาการสอนและดูแลนักเรียน

  • เพิ่มสวัสดิการครูและบุคลากร เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพ ทำให้ครูสามารถโฟกัสกับหน้าที่ในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่

  • ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและหน้าที่พลเมือง เพื่อให้นักเรียนเข้าใจรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

  • พัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และปรับหลักสูตรแกนกลาง ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การเรียนรู้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังเน้นย้ำว่าการทำงานของกระทรวงต้องเป็นไปในลักษณะ ครอบครัวเดียวกัน เปิดพื้นที่ให้มีการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นจากครู ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีส่วนร่วม พร้อมยืนยันว่าจะสานต่อนโยบายดี ๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ใช้วิธีสั่งการจากบนลงล่าง แต่เน้นการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

ผลสำรวจระดับนานาชาติ พบ ‘การศึกษาไทย’ ยังรั้งท้าย

ขณะที่ ผลสอบ PISA 2022 ที่จัดทำโดย OECD เผยให้เห็นว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปีมีคะแนนเฉลี่ยในทั้ง 3 ทักษะ ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการประเมิน และอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและอาเซียน โดยได้คะแนนการอ่าน 379 คะแนน (อันดับ 58 จาก 81), คณิตศาสตร์ 394 คะแนน (อันดับ 64) และวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน (อันดับ 58) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อย่างมีนัยสำคัญ

รายงานยังพบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่กว่า 50 – 68% มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (Level 2) โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ที่สูงถึง 68% เทียบกับค่าเฉลี่ย OECD ที่ 31% ขณะที่มีเด็กไทยเพียงส่วนน้อยที่ทำได้ในระดับสูง (Level 5 ขึ้นไป) ทั้งนี้ สสวท. ชี้ว่า โรงเรียนสาธิตและโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์บางแห่งทำคะแนนได้เทียบเท่ากลุ่มประเทศ Top 5 สะท้อนว่า ระบบการศึกษาไทยมีศักยภาพ หากรัฐสามารถกระจายโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้เท่าเทียมทั่วประเทศ

เช่นกันกับผลสำรวจล่าสุดของ EF Education First ปี 2024 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 106 จาก 116 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 21 จาก 23 ประเทศในเอเชีย ด้วยคะแนน 415 คะแนน จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ “ระดับต่ำมาก” โดยกรุงเทพฯ มีคะแนนดีที่สุดในประเทศ ตามด้วยพัทยา นนทบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น ขณะที่ภาคใต้ได้คะแนนต่ำที่สุด

เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ไทยมีอันดับถดถอยลงจากอันดับที่ 101 (ปี 2023) และอันดับ 97 (ปี 2022) ขณะที่ประเทศในเอเชียที่มีความเชี่ยวชาญสูง เช่น ฟิลิปปินส์ (อันดับ 22) และมาเลเซีย (อันดับ 26) ยังรักษามาตรฐานได้ดี มีเพียงกัมพูชาที่อยู่อันดับ 111 ที่ตามหลังไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active