นักวิชาการนิติฯ มธ. ย้ำ ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ซ้อมทรมานตั้งแต่ปี 2550 แต่กลับไร้กฎหมายรองรับ มองเจ้าหน้าที่รัฐทำทรมานเสียเอง โทษต้องหนักกว่าประชาชนธรรมดา
26 ส.ค. 2564 – รศ.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม ระบุ กรณีสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ 7 คน ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆาตกรรม จิระพงศ์ ธนพัฒน์ อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติด เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยเปิดเผยกับ The Active ว่า ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกใน อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture หรือ CAT) ตั้งแต่ปี 2550 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 177 ประเทศ แต่ระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมา แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการปฏิบัติตามพันธะกรณีแต่อย่างใด
รศ.ปกป้อง อธิบายถึง สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ซึ่งประเทศสมาชิกนั้นต้องปฏิบัติตาม โดยเรื่องของการซ้อมทรมานดังกล่าว อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ มุ่งหมายให้ใช้บังคับต่อ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่กระทำการทรมานเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึง “ประชาชนทั่วไป” และไม่เพียงจำกัดแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ยังหมายถึง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐทั้งปวง ซึ่งพันธะกรณีตามอนุสัญญา มีสิ่งที่สำคัญ 10 ข้อ
(1) ต้องกำหนดฐานความผิดของการซ้อมทรมาน ซึ่งรัฐภาคีต้องไปกำหนดฐานความผิดตามมูลเหตุที่เกิดขึ้นใน 4 กรณี ได้แก่ ทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล หรือเพื่อให้รับสารภาพ, ทรมานเพื่อข่มขู่ให้กระทำหรือไม่กระทำการบางอย่าง, ทรมานเพราะเหตุผลแห่งการเลือกปฏิบัติ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา หรือสีผิว เป็นต้น และมูลเหตุสุดท้ายคือ ทรมานเพื่อเป็นการลงโทษผู้อื่น หมายถึงไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมนั่นเอง
โดยการกำหนดฐานความผิดในข้อ (1) นี้ต้องแยกออกจากความผิดฐานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย หรือการฆ่าผู้อื่นโดยประมาท หรือเจตนา ซึ่งเป็นฐานความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการซ้อมทรมานเป็นอันดับแรก
(2) การซ้อมทรมานเป็นความผิดพิเศษ หมายถึง ทั่วโลกเห็นตรงกันว่ามีความร้ายแรงมากกว่าความผิดอาญาทั่วไป ซึ่งกำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ว่าไม่อาจทำได้ ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ ทั้ง สถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง หรือวิกฤตการณ์ของรัฐ ซึ่งต่างจากความผิดอื่น ๆ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินใดแล้ว รัฐจะสามารถผ่อนคลายการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้บ้าง แต่การซ้อมทรมาน รัฐไม่สามารถอาศัยความชอบธรรมใด มาทรมานประชาชนได้เลย หรือที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชนเด็ดขาด”
(3) การกระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่อาจหลุดพ้นความรับผิดฐานทรมาน ถ้าจะอธิบายให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยคือ “นายสั่งให้ทำ” เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดนั้น ไม่สามารถทำได้ แต่ในกรณีอาจจะได้รับโทษหนักเบาต่างกันนั้น อาจลดหลั่นกันไปตามกระบวนการ
(4) เมื่อกำหนดความผิดแล้ว ต้องลงโทษให้เหมาะสม ในฐานะที่เป็น “อาชญากรรมร้ายแรง หรือ Serious crime” คือ ไม่สามารถลงโทษในลักษณะของความผิดทั่วไป อย่างการทำร้ายร่างกายได้ (5) ห้ามรับฟังพยานที่ได้จากการทรมาน หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่นั้น ได้พยานมาจากการซ้อมทรมาน ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานนั้น เพราะหากศาลรับฟัง ย่อมเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ไปทรมานผู้อื่นนั่นเอง
(6) ห้ามผลักดันคนกลับไปยังพื้นที่ซึ่งอาจถูกการทรมาน ยกตัวอย่างเช่น การส่งโรฮิงญา หรือชาวอุยกูร์ กลับประเทศ (7) การคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหาย จากการถูกกระทำทรมาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่รัฐต้องคุ้มครองผู้ที่ถูกทรมานด้วย (8) กำหนดให้มีเขตอำนาจสากล ในความผิดทรมาน หมายความว่า ไม่ว่าจะกระทำทรมานที่ใด ให้ศาลในทุกประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก มีเขตอำนาจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้นได้ ถึงแม้ผู้กระทำความผิดไม่ใช่ประชาชนของรัฐนั้น ๆ ก็ตาม
สิ่งนี้เรียกว่า “อาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ International crime” รศ.ปกป้อง ยกตัวอย่างในกรณีดังกล่าว เช่น ก. ทุบ ข. เป็นอาชญากรรมปกติ หาก ก. หนีไปต่างประเทศ ต่างชาติอาจไม่สนใจติดตามลงโทษ ก. แต่หากเจ้าหน้าที่กระทำทรมานแล้วหนีไปต่างประเทศ ทั่วโลกจะร่วมมือกันติดตาม สอบสวนลงโทษ
(9) ภาคีสมาชิกต้องให้ความร่วมมือ ในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ถือเป็นสัญญาณที่ทั่วโลกต้องปฏิบัติร่วมกัน ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะหนีไปยังประเทศใดก็ตาม หากเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก ต้องให้ความร่วมมือในการจับกุม และสอบสวนด้วย และสุดท้าย (10) การอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐนั้น ๆ ที่ต้องฝึกให้เจ้าหน้าที่ให้เคารพสิทธิมนุษยชน และห้ามทรมานประชาชน
นี่เป็นเพียงบางส่วนซึ่งมีความสำตัญต่อการเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ ดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่มีกฎหมายภายในเพื่อรองรับต่อมาตรการใด ๆ ดังที่กล่าวมา เพราะกระทั่งปัจจุบัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …’ (หรือร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย) ก็ยังคงค้างอยู่ในสภาฯ โดย รศ.ปกป้อง กล่าวว่า ตนเคยมีส่วนร่วมในการยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2559 แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้
โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทรมานต่อประชาชน ก็ทำได้เพียงลงโทษในฐานความผิดที่กระทำทั่วไป ซึ่งไม่ใช่การลงโทษฐานกระทำทรมานที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน ในลักษณะความผิดที่อุกฉกรรจ์ คำถามคือ ทำไมตอนนี้เรายังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับเรื่องนี้ ?
เจ้าหน้าที่รัฐทำทรมาน โทษต้องหนักกว่าปกติ
รศ.ปกป้อง กล่าวว่า เหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องได้รับโทษมากกว่าการกระทำทรมานของประชาชนทั่วไป เพราะ เจ้าหน้าที่รัฐได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ถืออำนาจรัฐ และสามารถจำกัดสิทธิของประชาชนในบางประการได้ ทั้ง การจับกุม สืบสวน สอบสวน หรือกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทรมานเสียเอง ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ จึงเป็นเหตุผลที่อนุสัญญาฯ เรียกร้อง ให้สมาชิกต้องมีกฎหมายกำหนดฐานความผิด และเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับโทษมากกว่าปกติ
“ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับความไว้ใจจากประชาชนให้ใช้อำนาจรัฐ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แล้วไปทำทรมานผิดกฎหมายเสียเอง จึงเป็นการทำลายความไว้ใจ แล้วประชาชนที่ถูกทำทรมานจะไปพึ่งใคร”
ถึงแม้มีกฎหมายเฉพาะ การดำเนินคดีต้องรวดเร็ว และเป็นธรรม
รศ.ปกป้อง มีข้อกังวลบางประการถึงการป้องกันและปรามปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน รวมถึงการดำเนินคดีอาญาอื่น ๆ ว่า ถึงแม้จะมีกฎหมายกำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะ และมีกลไกมากมายเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องดำเนินคดีอย่าง “รวดเร็ว และเป็นธรรม”
หมายความว่า หากใครก็ตามที่กระทำความผิด ต้องถูกดำเนินการอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิผล โดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้นอีกในอนาคต และจำเป็นต้องดำเนินคดีอย่างรวดเร็วเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชนด้วย
และ “ความเป็นธรรม” หมายถึง เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทรมาน จะเป็นฝ่ายผิดเสมอไป แต่กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพิสูจน์ให้ความจริงปรากฎได้ หากผู้ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้บริสุทธ์” ก็ต้องคืนความบริสุทธ์ให้แก่ผู้นั้นด้วย
ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดการตั้งคำถามว่า “สิทธิมนุษยชน” เช่นนี้จะไปขัดขวางการดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำความผิดในสังคมหรือไม่ รศ.ปกป้อง กล่าวว่าสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ขัดขวางการลงโทษ หรือดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด เพียงแต่การลงโทษ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้น้ำหนักของหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เห็นว่า “คนทุกคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน”