“มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์” เขตทุ่งครุ กทม. เปิดพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชาวไทย-มุสลิม เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ แยกผู้ป่วยสีเขียวรักษา พร้อมช่องทางประสานส่งต่อหากอาการหนัก
วันนี้ (27 ส.ค. 64) ที่มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ ชุมชนซอยประชาอุทิศ 72 เขตทุ่งครุ กทม. เปิดตัวโครงการ “ศูนย์แยกกักในชุมชนมัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์” เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนโดยใช้สมุนไพร และภูมิปัญญาไทย โดยความร่วมมือของสำนักงานเขตทุ่งครุ, มูลนิธิสุขภาพไทย, มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และภาคีเครือข่าย พร้อมรองรับประชาชน 29 เตียง ในวันเสาร์ที่ 28 ส.ค.นี้ ส.ค.นี้
ชลิต ศรีสมาน ผู้แทนมัสยิดและรักษาการอิหม่าม กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยมีมัสยิดเป็นเจ้าภาพประสานความร่วมมือ เพื่อให้บริการประชาชนชาวไทย-มุสลิม ที่อยู่ในชุมชนโดยรอบเป็นลำดับแรก เนื่องจากชาวมุสลิมมีวิถีวัฒนธรรมที่สอดรับกับหลักศาสนา เช่น ต้องรับประทานอาหารฮาลาล ต้องละมาดวันละ 5 รอบ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องไปพักอาศัยในพื้นที่อื่น อาจไม่ได้รับความสะดวกในส่วนนี้
คนที่เข้ามาอยู่จะเป็นคนในชุมชนโดยรอบของมัสยิด เพราะพี่น้องมุสลิมจะมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร การปฏิบัติศาสนากิจในการละมาด ซึ่งที่นี่จะเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมตามหลักศาสนาได้ ละมาดพร้อมกันวันละ 5 ครั้ง และให้บริการอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ โต๊ะอิหม่าม จะมีเครื่องขยายเสียงเอาไว้ในพื้นที่แยกกักด้วย เพื่อประสานงานระหว่างผู้ดูแลและผู้กักตัว สามารถเปิดเสียงตามสาย อบรมเรื่องคำสอนตามศาสนา เพื่อให้ผู้ป่วยใช้เวลาว่างในศูนย์แยกกักมาเรียนรู้ พัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน
ผู้แทนมัสยิดและรักษาการอิหม่าม บอกด้วยว่า ที่ผ่านมามัสยิดต้องปิดให้บริการตามหลักการด้านสาธารณสุขที่ประกาศจากจุฬาราชมนตรี ทำให้บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา แต่เมื่อมีการเปิดศูนย์แยกกักตรงนี้ เหมือนเปิดแสงสว่าง และทำให้มีการประกอบศาสนกิจที่นี่อีกครั้ง ถือเป็นบริบทใหม่ สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้กรรมการมัสยิดรู้สึกยินดีมาก ๆ
ธนาชิต ชูติกาญจน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ กทม. ระบุว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเป็นหนึ่งในทีมงานที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยในศูนย์แยกกักแห่งนี้ โดยจะช่วยดำเนินการตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยเข้ามาพักยังมัสยิด ต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ และหากผู้ป่วยที่พักในศูนย์ฯ ยกระดับอาการมากขึ้น ก็จะดำเนินการส่งต่อไปยังหน่วยบริการทางการแพทย์ตามความเหมาะสมต่อไป
เรามีพยาบาลจากศูนย์สาธารณสุข จากศูนย์บริการสาธารณสุข 59 กทม. มาร่วมดูแลด้วย โดยใช้วิธีการคุยทางโทรศัพท์ ติดตามดูอาการผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนสถานะจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล มีทั้งโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลหลักในสังกัดกรุงเทพฯ รวมถึงประสานตามสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งสำนักงานเขตจะประสาน ระบบ 20 คู่สาย 1669 เพื่อหาเตียงรองรับผู้ป่วยต่อไป
ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประชากรในพื้นที่เขตทุ่งครุ ทั้งหมดกว่า 3 แสนคน ซึ่งเป็นชาวไทย-มุสลิมมากถึงร้อยละ 30-40 ส่วนภาพรวมการติดเชื้อภายในเขตรวมสะสมทั้งหมดประมาน 4,000 คน
ธวัชชัย โตสิตระกูล ในฐานะที่เป็นอดีตผู้ติดเชื้อ มีประสบการณ์รักษาโรคโควิด-19 ด้วยสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ได้นำบทเรียนการรักษาตัวเองและครอบครัวมาแลกเปลี่ยนและใช้เป็นแนวทางหลักในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวในศูนย์ฯ แห่งนี้ด้วย หัวใจสำคัญคือ “การรับประทานสมุนไพรเป็นยาและการรักษาแบบองค์รวม” โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.ยาสมุนไพร 2.น้ำสมุนไพร และ 3. อาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร
เรื่องยาจะใช้ฟ้าทะลายโจร และกระชายแคปซูล รับประทาน ครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง มีผลวิจัย ยืนยันว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์โควิดได้ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยลดการเกิดพายุไซโตไคน์ หรือภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไป จัดทำน้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำมะขามป้อม เพื่อสลับให้ผู้ป่วยดื่ม เพราะสมุนไพรเหล่านี้มีสรรพคุณ คล้ายกับฟ้าทะลายโจรและกระชาย ส่วนอาหารใช้สูตรตำหรับอาหารสมุนไพร จากอภัยภูเบศ มาปรุงเป็นเมนูฮาลาล เช่น ไข่เจียวหัวหอมใหญ่ ซุปหัวหอมใหญ่ ฯลฯ ให้เสริมภูมิคุ้มกันในภาวะการณ์โควิด
ธวัชชัย เสริมว่า การดูแลทางด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องประกอบกันไปด้วย เพราะจิตใจมีผลเกี่ยวเนื่องกับกับระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกสิ่งสำคัญคือความร่วมมือ จากหลายภาคส่วนที่สนับสนุนโครงการนี้ ทั้งในรูปแบบของการบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของ หรือการเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วย ซึ่งตอนนี้ตนเองและสมาชิกในชุมชนใกล้เคียงได้ร่วมกันเป็นทีมอาสา เชื่อว่าการอาสาทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น คือปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่ส่งต่อกันไปได้ และเป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมในภาพรวมน่าอยู่มากขึ้น
จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ต้องลงมือทำด้วย หากเราทำความดีช่วยเหลือคนอื่นให้ได้สัก 3 คน และทำแบบนี้ได้ต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น ถ้าเราทำแบบนี้เราสามารถชนะโควิด ได้สบาย อยู่กันแบบปรองดอง มีความสุขมากขึ้น ความมีน้ำใจแก่กัน
จากนี้ได้วางแนวทางปฏิบัติงานของอาสาสมัคร โดยจะจัดอบรมเพื่อให้อาสาสมัครรู้วิธีป้องกันตัวเอง ไม่ให้กลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง เน้นหลีกเลี่ยงการเข้าไปพบหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
อาสาสมัคร อาจจะมีความเสี่ยง จึงต้องมีวิธีป้องกัน ไม่ให้ตัวอาสาป่วยเอง ดังนั้นจึงมีมาตรการต่างๆ ที่ใช้ป้องกัน โดยระบบย้ำไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ ให้ผู้ป่วยช่วยกันดูแลสถานที่กักตัวกันเอง ให้ทำอะไรทุกอย่างด้วยตัวเอง เช่น มีหัวหน้า เวรประจำห้องเหมือนในโรงเรียน ทั้งนี้ทางสำนักงานเขตทุ่งครุก็ได้มีการสนับสนุนชุด PPE มาให้ด้วย
รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย ในฐานะผู้แทนมูลนิธิอภัยภูเบศร กล่าวว่า ความพิเศษของศูนย์กักตัวในชุมชนแห่งนี้ คือใช้สมุนไพร และแพทย์แผนไทยในการรักษาเป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นที่แรก ๆ ของไทย โดยความร่วมมือของ มูลนิธิสุขภาพไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่สนับสนุนวัตถุดิบสมุนไพร และยาสมุนไพร พร้อมมองว่าเป็นโอกาส ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ และพิสูจน์ต่อสังคมว่า สมุนไพรไทยสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้จริง สู่การพึ่งพาตัวเองในที่สุด
ที่ผ่านก็มามีการใช้สมุนไพรรักษาโควิด-19 แล้วได้ผล แต่ต้องใช้ให้เร็ว พอเป็นศูนย์นี้มา คณะกรรมการของมัสยิด มีความเต็มใจที่จะใช้สมุนไพรในชุมชน เพื่อที่จะสามารถดูแลผู้ป่วย และพึ่งตัวเองให้ได้ ด้วยสมุนไพรทั้งหลายอยู่ในชุมชน ปลูกเองพึ่งตัวเองได้ ตอนนี้เริ่มปลูกแล้ว หากได้ผลผลิตมากมีแผนจะแจกจ่ายประชาชน แบ่งปันกันเอง
รสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ ไม่ได้ใช้งบประมานของรัฐ แต่เป็นการประสานความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ ที่หลากหลาย เนื่องจากกังวลว่าหากอยู่ในระบบที่เบิกเงินกับ สปสช. อาจไม่มีทางเลือกที่จะใช้สมุนไพร แต่เป็นการพิสูจน์ว่าภาคประชาชนก็มีความพร้อมในการดำเนินงาน หากว่าภาครัฐเปิดโอกาสให้
เป็นการร่วมมือของภาคประชาสังคม แสดงให้เห็นว่าพร้อมอย่างยิ่งถ้ารัฐเปิดโอกาสให้ในกระบวนการแยกกักของชุมชน แต่ละพื้นที่ควรมี semi-CI ระดับเล็ก กลาง ใหญ่ ไม่ให้ผู้ป่วยสีเขียววิ่งไปโรงพยาบาลและกินพื้นที่ของผู้ป่วยกลุ่มสีอื่น ที่มีอาการรุนแรงมากกว่า