“อรุณ บุญชม” จุฬาราชมนตรี คนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย

ผลการโหวตจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ได้คะแนนท่วมท้น 471 คะแนน  นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา มองโลกมุสลิมในยุคสมัยการเปลี่ยนแปลง สิ่งท้าทายบทบาทจุฬาราชมนตรีคนใหม่

วันนี้ (22 พ.ย.66) ณ อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมสรรหา และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 ของประเทศ โดยมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 723 คน กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมการประชุมสรรหาฯ ครั้งนี้

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะต้องดำเนินการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และกฎกระทรวง พ.ศ. 2542 ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540

สมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี รวมทั้งขั้นตอนการสรรหาจุฬาราชมนตรีให้ทุกคนในที่ประชุมทราบ ซึ่งที่ประชุมและองค์ประชุมต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น

ที่ประชุมเสนอ 3 ชื่อ และจับสลากหมายเลขประจำตัวผู้ถูกเสนอชื่อ ดังนี้

หมายเลข 1 ประสาน  ศรีเจริญ 

หมายเลข 2 อรุณ  บุญชม 

หมายเลข 3 วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ

โดยการลงคะแนนสรรหาจุฬาราชมนตรี ที่ประชุมมีมติ เริ่มลงคะแนนเวลา 10.05 – 12.05 น. ด้วยวิธีการลงคะแนนลับ จากนั้นเมื่อเวลา 12.06 น. กรมการปกครอง ได้ดำเนินการเปิดหีบเพื่อนับคะแนนการสรรหาจุฬาราชมนตรี ต่อหน้าที่ประชุม โดยมีผู้ลงคะแนนสรรหาทั้งสิ้น 723 คน จำนวนบัตรเสีย  7 ใบ และบัตรผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 ใบ

ผลการลงคะแนนปรากฏว่า

หมายเลข 2 อรุณ บุญชม ได้รับ 471 คะแนน

หมายเลข 1 ประสาน  ศรีเจริญ ได้รับ 129 คะแนน

หมายเลข 3 วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ ได้รับ 115 คะแนน 

ทั้งนี้เมื่อกรรมการอิสลามประจําจังหวัดทั่วประเทศ ให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้ว กระทรวงมหาดไทย จะนำรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ กราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี ต่อไป

โลกมุสลิมในยุคการเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย บทบาท “จุฬาราชมนตรี” คนใหม่

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีการเลือกจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย โดยมองว่า อรุณ บุญชุม มีความเหมาะสมที่สุดในจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และความอาวุโส ซึ่งบทบาทหน้าที่สำคัญของการเข้ามาเป็นผู้นำของชาวมุสลิมในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และสังคม ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ การเป็นผู้นำหลักคำสอนทางศาสนามาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย และยอมรับ เข้าใจกลุ่มคนที่เห็นต่าง

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่สำคัญยังมีเรื่องท้าทายชาวมุสลิมในไทย และทั่วโลก ที่กำลังรอการผลักดัน และทำให้เกิดความชัดเจน เช่น ประเด็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ จากนี้บทบาทของจุฬาราชมนตรีคนใหม่ และคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจทั้งต่อเวทีมุสลิมไทย และเวทีมุสลิมโลกได้อย่างไร ต้องอาศัยการวางตัวภายใต้สถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน อย่างกรณีสงครามอิสลาเอล-ปาเลสไตน์ กระทบต่อสังคมมุสลิมทั่วโลก บทบาทของจุฬาราชมนตรีคนใหม่ จะต้องสามารถวางตัว และเข้าไปสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องชาวมุสลิม 

ประเด็นต่อมา คือการให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยจุฬาราชมนตรีคนใหม่ต้องวางบทบาทให้เหมาะสม สร้างความกระจ่างให้แก่สังคมมุสลิม ไม่มีระบบเส้นสาย ระบบทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนั้นยังเห็นว่า จุฬาราชมนตรีอาจต้องทบทวน และแก้ไข “พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540” ที่เปิดโอกาสให้ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” สามารถเข้ามาทำงานในตำแหน่ง “คณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”ตามมาตรา 17 “คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด”ตามมาตรา 24 รวมทั้ง “คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด”ตามมาตรา 31 ทั้งที่ตำแหน่ง จุฬาราชมนตรี นั้นถูกปฏิเสธในมาตรา 7(10) ระบุว่าต้อง “ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

“การอนุญาตให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาทำงาน จึงอาจส่งผลให้การบริหารกิจการอิสลามเข้าสู่วิถีการเมืองอย่างง่ายดาย อีกทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมาก และอาจทำลายความศักดิ์สิทธิ์ และจิตวิญญาณขององค์กรศาสนา ด้วยเหตุนี้ท่านจุฬาราชมนตรีคนใหม่ อาจต้องทบทวน”

อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม

ประเด็นสุดท้าย คือ การขับเคลื่อนตลาดอาหารฮาลาลของไทย ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเรื่องนี้ และจะส่งผลให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

อรุณ บุญชม กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ซ้าย) ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19

เส้นทางการทำงาน “อรุณ บุญชม”

ข้อมูลจาก Thai PBS NEWs ระบุว่า อรุณ บุญชม เรียนจบ ปริญญาตรี สาขาอัลฮะดีษและอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลาม นครมาดีนะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และ ปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เคยรับหน้าที่อาจารย์สอนอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับระดับ “ซานะวีย์” โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (บ้านดอน) และเป็นวิทยากรบรรยายศาสนธรรมให้แก่สถาบันและองค์กรต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดดารุลมุห์ซีนีน (สุเหร่าบ้านดอน) กรุงเทพมหานคร และอีกหลายตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร, อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมคุรุสัมพันธ์, ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี, วิทยากรบรรยายศาสนธรรมให้แก่สถาบันและองค์กรต่าง ๆ, ประธานที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการศาสนากองทุนเปิดเอ็ม เอฟ ซี อิสลามมิกฟันด์, ที่ปรึกษาการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามของธนาคารออมสิน, ประธานคณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์ (ตะกาฟุล), ประธานคณะที่ปรึกษาทิพยะตะกาฟุล (ด้านศาสนา), ประธานคณะที่ปรึกษากองทุนอิสลามของ ธ.ก.ส.

 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active