สำรวจพบชาวชุมชนคลองเตย รักษาตัวที่บ้าน Home Isolation ยังเข้าไม่ถึงการรักษาจริง ภาคประชาชนเรียกร้อง สปสช. ตรวจสอบ กังวลระบบเบิกจ่ายที่มีค่าหัวสูงถึง 15,400 บาท/คน เลขาฯ สปสช. ยัน ระบบตรวจสอบก่อนจ่าย 100% ไม่มีช่องโหว่ทุจริต
1 ก.ย. 2564 – The Active ได้รับแจ้งข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาชนในชุมชนคลองเตย ว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบการรักษาตัวเองที่บ้าน หรือ Home Isolation ไม่ได้รับการดูแลตามระบบจับคู่ ที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ
ผู้ป่วยโควิด-19 ชุมชน 70 ไร่ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เล่าว่าติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ Home Isolation ในวันถัดไป แต่ผ่านไปถึง 5 วันแล้ว ยังไม่ได้รับการติดต่อจากสถานพยาบาลที่จับคู่ดูแล
“ได้ยามาจากศูนย์ฯ วัดสะพาน และชุมชนก็คอยดูแลเราช่วยเหลือตัวเองตลอดการรักษาตัวที่บ้าน”
ขณะที่ชุมชน ล็อก 1 และ 3 เขตคลองเตย มีผู้ป่วยหญิงอีกคน ที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงทีในระบบ Home Isolation จนเริ่มมีอาการและใช้สิทธิประกันสังคมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก่อนจะได้รับ SMS แจ้งเข้ามาว่าได้รับสิทธิการดูแลแบบ Home Isolation ซึ่งผ่านมาถึง 8 วันแล้ว
“การตอบกลับผู้ป่วยยังช้าเกินไป หากตนไม่ได้ใช้สิทธิประกันสังคม อาจจะไม่ได้รับการดูแลเช่นนี้”
เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนจากอดีตผู้ป่วยอีก 2 คน ซึ่งกรณีนี้ล่าช้าถึง 14 วัน จนอาการป่วยหายแล้ว ที่ผ่านมามีเพียงการดูแลจากชุมชน
“หากมีอาการรุนแรง หรือต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนนั้น อาจไม่สามารถจัดการได้ทัน แต่โชคดีที่มีชุมชน และหน่วยงานอาสาสมัครคอยดูแล ทั้งยารักษา และอาหารระหว่างการรักษาตัว”
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการดังกล่าวยังเกิดช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาอีกมาก ควรใช้ระบบการติดตามด้วยฐานข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน และตรวจสอบให้ถูกต้องว่าผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนครบถ้วนหรือไม่
“สปสช. ต้องตรวจสอบเพราะว่าเรามีเลขบัตรประชาชนและให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ร้องเรียนว่าลงทะเบียนไปแล้ว มันเกิดจากอะไร ทำไมไม่ได้รับการรักษา เราไม่อยากกล่าวโทษว่าจะเกิดช่องว่างหรือการแสวงหาประโยชน์ ควรมีการตรวจสอบ”
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่าการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ Home Isolation จะจ่ายให้โรงพยาบาลหรือคลินิกเท่าที่ให้บริการจริงกับผู้ป่วย
โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ไม่ใช่วันแรกที่ติดต่อกับคลินิก และให้การรักษาจนกว่าแพทย์จะระบุว่าหายเป็นปกติ โดยครอบคุลมการรักษารายวันและค่าอาหาร 14,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 1,100 บาท ค่ายาฟ้าทะลายโจร 300 บาท รวมแล้ว สปสช. จะจ่ายค่าให้บริการต่อคนไม่เกิน 15,400 บาท
ส่วนหลักฐานที่โรงพยาบาลและคลินิกจะต้องใช้ยืนยันเพื่อการเบิกจ่าย ต้องเป็นหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการให้บริการกับผู้ป่วยจริง เช่น ระบบพิสูจน์ตัวตน บัตรประชาชนหรือการสแกนคิวอาร์โค้ด, มีระบบคอลเซ็นเตอร์โทรกลับหาผู้ป่วย 2 ครั้ง ต่อรอบการให้บริการ เพื่อยืนยันว่าได้รับบริการจริง, คลินิกจะต้องส่งข้อมูลการบริการประจำวันส่งให้ สปสช. โดยต้องส่งวันต่อวัน และหลักฐานในการซื้ออุปกรณ์ให้ผู้ป่วย/ภาพถ่ายระหว่างการให้บริการผ่านวิดีโอคอล
ซึ่งหลักฐานทั้งหมด อยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบของเราและการเบิกจ่ายเงินเป็นการตรวจสอบก่อนจ่ายยืนยันว่าไม่มีช่องโหว่ในการทุจริต ขอให้มั่นใจในการทำงานที่ สปสช. มีประสบการณ์ด้านนี้อยู่แล้ว
“อยากให้มีความมั่นใจ ถ้าไม่เกิดบริการเราไม่จ่าย และเราตรวจสอบก่อนจ่าย 100% อยู่แล้ว เพียงแต่เวลาที่มีประชาชนมาร้องเรียนว่าไม่ได้รับการบริการหรือบริการไม่เต็มที่ เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ว่าทำไมหน่วยบริการถึงไม่บริการ เพราะประชาชนเสียประโยชน์ยอมรับ แต่เรามั่นใจว่าระบบที่เราจะจ่ายเงิน รัฐไม่มีการจ่ายโดยไม่มีการบริการแน่นอน เรามีประสบการณ์เรื่องพวกนี้อยู่”
ขณะที่คลินิกอบอุ่นซึ่งเป็นหน่วยให้บริการชี้แจงเพิ่มเติมว่า การรักษาผู้ป่วยที่บ้านที่ไม่มีอาการเป็นการตอบโจทย์ระยะเวลาหนึ่งที่สถานการณ์ในเวลานั้นขาดแคลนเตียง แต่ตอนนี้ฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนามเริ่มกระจายมากขึ้น จึงเห็นว่าควรส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบนี้จะดีกว่า เพราะการดูแลรักษาที่บ้านมีข้อจำกัด ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการเอกซเรย์ปอด ไม่ได้ตรวจเลือด และเข้าไม่ถึงออกซิเจน เมื่ออาการหนัก ดังนั้น ที่ผ่านมาคลินิกพยายามที่จะหาทางเลือกให้ผู้ป่วย และไม่เลี้ยงผู้ป่วยไว้จนครบ 14 วัน เพราะไม่มองเรื่องนี้เป็นธุรกิจ