คทช. ไฟเขียว ดันร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินฯ เข้า ครม. – พีมูฟ เชื่อมีหวังกระจายที่ดินเป็นธรรม

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินฯ ฉบับแก้ไขปรับปรุง เน้นกลุ่มเป้าหมายกว้างกว่าเกษตรกร ครอบคลุมคนจน ไร้ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ทั้งชนบท ในเมือง เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน ในกรรมการธนาคารที่ดิน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เข้าร่วมประชุมด้วย โดยการประชุมดังกล่าว พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมการ  บจธ. และ กุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. เข้าชี้แจงร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. …. ต่อที่ประชุม คทช. ก่อนที่ที่ประชุม คทช. มีมติเห็นชอบให้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ฉบับแก้ไขปรับปรุง ที่เสนอต่อที่ประชุม คทช. ครั้งนี้หลักการสำคัญ แตกต่างจากร่างฉบับเดิมที่ บจธ.เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ และร่างฯ ฉบับดังกล่าว ผ่านการหารือร่วมกันหลายครั้งทั้งจาก บจธ. และภาคประชาชน

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ กลุ่มพีมูฟ ระบุว่า เนื้อหาสำคัญใน ร่างพ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ฉบับเดิม คือกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรที่ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการอยู่อาศัยของเกษตรกร แต่ฉบับแก้ไขครอบคลุมกลุ่มประชาชนทุกคนที่ยากจน ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้นครอบคลุมทั้งชนบทและในเมืองด้วย  เพราะคนเมืองและคนชนบทมีความต้องการใช้ที่ดินสูง ถ้ารัฐต้องการจะกระจายการถือครองที่ดินจริง ๆ ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่เสนอนี้อาจจะไม่ครอบคลุมการกระจายที่ดินทุกอย่าง แต่จะเป็นหนึ่งในกลไกช่วยกระจายการถือครองที่ดินได้

ถ้าดูตั้งแต่กระบวนการที่พีมูฟได้เสนอต่อ บจธ.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เกือบปีเพิ่งจะได้เข้าสู่การพิจารณาของ คทช. เดิมทีทาง บจธ. ยกร่างฯ กันเองภายใน แต่เราไปดูเนื้อหาแล้วมันไม่ตรงตามความการของพึ่น้องที่มีความหลากหลาย มากกว่าเกษตรกรรมจึงขอให้ทาง บจธ. พิจารณาใหม่และให้มีสัดส่วนของภาคประชาชน เข้าไปยกร่างฯ ด้วย ซึ่งได้พิจารณา ร่วมประชุมกันหลายครั้งจนได้นำเสนอร่างฯ ในที่ประชุม คทช.ครั้งล่าสุด ซึ่งในที่ประชุมรับร่างฯ หลักการ หลังจากนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และให้ทางกฤษฎีกาตรวจดูเนื้อหา แก้ไข ก่อนเข้าสู่การพิจาณาของรัฐสภา ซึ่งใช้เวลาตามขั้นตอนกฎหมายอีกสักระยะ 

นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ฉบับดังกล่าว ยังเสนอให้ปรับสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาบริหาร บจธ. มาจากภาคประชาชนมากขึ้น จากเดิมเพียงแค่ 2 คน เพิ่มเป็นครึ่งหนึ่งของสัดส่วนคณะกรรมการทั้งหมด จากคณะกรรมการของแต่ละกระทรวง ขณะที่ประธานคณะกรรมการ คือ นายกรัฐมนตรี

ขณะที่วาระอื่น ๆ บจธ.ได้เสนอการขอขยายเวลาดำเนินการในกิจกรรมของ บจธ.ต่อไปอีก 3 ปี ซึ่งจะหมดอายุในปีหน้า เนื่องจากการยกร่าง พรบ.สถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ยังไม่แล้วเสร็จ

สำหรับ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ.2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีภารกิจสำคัญคือการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยบจธ. ได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีลักษณะดำเนินการคล้ายธนาคารที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน มาแล้ว 5 ฉบับ แต่ยังไม่มีการออกเป็นกฎหมาย ด้วยมีข้อติดขัดต่าง ๆ จน บจธ. ได้นำข้อติดขัดและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่าง ๆ มาปรับแก้ไขและยกร่าง พ.ร.บ.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินฯ และปรับปรุงแก้ไขล่าสุดก่อนจะเสนอต่อ คทช. เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ภายใต้การดำเนินงานของ บจธ. สามารถการกระจายการถือครองที่ดินได้จำนวน 4,698,180 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ได้จำนวน 1,368 ครัวเรือน รวมถึงโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่ 5 ชุมชน ได้แก่ บ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน, บ้านท่ากอม่วง ต.ปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน, บ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน, บ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส