UNESCO ประกาศ “ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก “รมว.ทส.” เล็งเสนอ เขาพระแทว จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 6
วันนี้ (16 ก.ย. 2564) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หลังที่ประชุมมีมติให้ขึ้นพื้นที่ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ณ เมืองอาบูจา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเวลา 45 ปี ที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมในโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก เพื่อการศึกษาวิจัยสู่พื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมพัฒนาที่ยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ระบุอีกว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย และในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีพื้นที่เตรียมเสนอเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นแห่งที่ 6 คือ เขาพระแทว จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการนโยบายคนอยู่กับป่าอย่างต่อเนื่อง
ชีวมณฑล คืออะไร
ชีวมณฑล คือ ระบบนิเวศในระดับดาวเคราะห์ที่ควบรวมเอาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดและความสัมพันธ์ ทั้งระหว่างกันเอง กับทั้งปฏิสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่าง ๆ ของธรณีภาค ปฐพีภาค อุทกภาค และชั้นบรรยากาศ มาไว้ด้วยกัน มีการสันนิษฐานว่าชีวมณฑลมีการวิวัฒนาการ มาตั้งแต่ต้นกำเนิดของชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการกำเนิดชีวิตจากสิ่งไร้ชีวิต (biopoiesis) หรือ กระบวนการกำเนิดชีวิตจากสิ่งมีชีวิต (biogenesis) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยเมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อน
พื้นที่สงวนชีวมณฑล จึงหมายถึงพื้นที่อนุรักษ์สังคมพืชและสัตว์ในสภาวะของระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรม และเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน ทั้งในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป
ทำไม “ดอยหลวงเชียงดาว” ได้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล
ภูเขาหินปูนโดดเด่นตระหง่าน มีดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ และเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนานที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุ ธรรมชาติที่เป็นแกนกลางของพื้นที่ดอยเชียงดาวได้อำนวยนิเวศบริการแก่ชุมชนโดยรอบ มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่หาได้ยากยิ่งในประเทศไทย พื้นที่นำเสนอนี้เป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้มากกว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็น 20% ของพรรณไม้ในประเทศไทย และมีพรรณไม้ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าภูมิประเทศนี้ทอดยาวลงมาจากตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูง Quinhai-Tibet และจีนตอนใต้
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จำนวน 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวซึ่งเป็นหัวใจของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเป็นพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผาและเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้
ในพื้นที่เชียงดาวมีประวัติการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเป็นเวลามากกว่า 600 ปี ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ชาวไทยใหญ่ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกาเกอะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
พื้นที่ดอยเชียงดาวยังมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของผู้คนในล้านนา ความเชื่อเกี่ยวกับ เจ้าหลวงคำแดง ซึ่งสถิตอยู่บนดอยหลวงเชียงดาว ตำนานถ้ำเชียงดาวที่ปรากฏในหลายสำนวนกระจายกันอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทย และเชื่อว่าเจ้าหลวงคำแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมของชนเผ่าไทในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย ตำนานเจ้าหลวงคำแดงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555
การเติบโตของอำเภอเชียงดาวเป็นไปอย่างระมัดระวัง และเสียงประชาชนมีความหมายกับการตัดสินใจ เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเป็นการศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาวภายใต้การควบคุมเข้มข้น
พื้นที่นำเสนอมีความพร้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในพื้นที่ เนื่องจากมีสถานีวิจัยในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีประสบการณ์โดดเด่นในการจัดการพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะความสำเร็จในการอนุรักษ์กวางผาในถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีสถานีวิจัยต้นน้ำ และสถานีวิจัยเกษตรพื้นที่สูง ศักยภาพของพื้นที่ในการเป็นแหล่งเรียนรู้สามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 9 กลุ่ม ได้แก่
- แหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
- แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองในระดับภูมิทัศน์
- แหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทย และชาวเขาพื้นที่สูง โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา และงานศิลปะ การดนตรี และการแสดง
- แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากร และระบบนิเวศต้นน้ำโดยชุมชน
- แหล่งรวมการทำงานของจิตอาสา โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวจากหลากหลายอาชีพ ที่เป็นลูกหลานชาวเชียงดาวที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด
- แหล่งค้นคว้าและศึกษาโบราณคดี
- การเป็นแหล่งเรียนรู้และส่งผ่านความรู้ด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- แหล่งศึกษาและปฏิบัติธรรม กล่าวถึงกิจกรรมของพระพุทธศาสนาตามวิถีชาวล้านนา
4 พื้นที่สงวนชีวมณฑลของไทย
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช (Sakaerat Biosphere Reserve) จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เริ่มจากบริเวณพื้นที่ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชในปัจจุบัน ในเวลาต่อมาได้ขยายขอบเขตพื้นที่รอบนอก เพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบลของอำเภอวังน้ำเขียว (ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลวังหมี ตำบลไทยสามัคคี และตำบลระเริง) และ 6 ตำบลในอำเภอปักธงชัย (ตำบลภูหลวง ตำบลตะขบ ตำบลตูม ตำบลสุขเกษม) เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมในป่าเขตร้อน และเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้า วิจัยระบบนิเวศเป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง
พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า (Mae Sa-Kog Ma Biosphere Reserve) จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติออบขาน และอุทยานแห่งชาติขุนขาน จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอสะเมิง ประกอบด้วย 2 พื้นที่ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำแม่สาและลุ่มน้ำห้วยคอกม้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและวิจัยทางด้านลุ่มน้ำธรรมชาติและอุทกวิทยา และเป็นต้นแบบของการจัดการลุ่มน้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก (Hauy Tak Teak Biosphere Reserve) จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ตั้งอยู่ที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาว อำเภองาวจังหวัดลำปาง เป็นป่าไม้สักธรรมชาติที่เป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนั้น ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและคุณค่าในฐานะแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ อย่างแหล่งภาพเขียนสีประตูผา และแหล่งภาพเขียนโบรณาบ้านห้วยหก
พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง (Ranong Biosphere Reserve) จังหวัดระนอง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มีระบบนิเวศแบบป่าชายเลนเป็นจุดเด่นครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนของอำเภอเมืองระนองที่มีคุณค่า ประกอบด้วยป่าชายเลนดั้งเดิมที่ไม่ผ่านการทำไม้ซึ่งคงเหลือไม่กี่แห่งในประเทศไทย โกงกางยักษ์อายุ 200 ปี ป่าชายเลนระนองมีความสำคัญในการรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม ชายฝั่งทะเลเป็นแนวป้องกันลมพายุ และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด เป็นบริเวณที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนมาเป็นเวลานานจนเป็นแบบอย่างของการค้นคว้าวิจัยให้กับพื้นที่อื่น ๆ