กทม. เปิดตัว ‘เทศกาลการอ่านการเรียนรู้’ มี.ค. – เม.ย.นี้

หลัง UNESCO รับ กทม. เป็นสมาชิกใหม่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ย้ำเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้ด้วยเครือข่ายที่แข็งแรง หวังสร้างรากฐานสังคมแห่งการอ่านและเศรษฐกิจด้านธุรกิจหนังสือที่แข็งแรง

School man reading | Man Reading Book and Sitting on Bookshe… | Flickr

วันนี้ (29 ก.พ. 67) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเปิดตัว ‘เทศกาลการอ่านการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร’ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ ฉลองการเป็นสมาชิกใหม่ของ เมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO ย้ำหลักการ Learning for Life (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) และ Opportunities for All (การขยายโอกาสให้ทุกคน) เพื่อตอบรับกับเมืองแห่งการเรียนรู้

ปัจจุบัน มีเมืองกว่า 294 เมืองจาก 77 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ขององค์การ UNESCO ที่มุ่งสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดแค่เพียงช่วงอายุใด และทุกคนในทุกช่วงวัยมีสิทธิในการเรียนรู้ เพื่อได้รับการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

แนวคิด ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ (Learning City) จึงถูกนำเข้ามายังในประเทศไทย โดยมีแม่งานเป็นองค์การยูเนสโก ทางองค์การเสนอว่า ท้องถิ่น จะเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทำให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เพราะภูมิปัญญาจากท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนในพื้นที่ มีความเฉพาะตัว และภูมิปัญญานี้จะทำให้ท้องถิ่นนั้นแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยเพียง การศึกษา จากหลักสูตรส่วนกลาง

ในส่วนของทิศทางการขับเคลื่อนต่อไป รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนด 5 Primary Areas หรือประเด็นหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่

1. พัฒนาการเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development)

2. การศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education)

3. การพัฒนาทักษะอาชีพ (Vocational Skills Development)

4. การเรียนรู้เพื่อทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for all, anywhere, anytime)

5. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง (Participation of Youth and Citizens in Urban Development)

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทุนว่าขอให้นำ 5 ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักในการสนับสนุนทุนแก่นักวิจัยหรือผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ไปกับกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ในวันที่ 31 มีนาคม 2567 จะมีการแถลงว่ากรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายจะดำเนินการอะไรบ้างภายใต้ 5 ประเด็นดังกล่าว

“การที่กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือก และประกาศรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งยืนยันความสำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการ หรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของนโยบายต่าง ๆ มากกว่านั้น กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่มีโอกาสมากที่สุด ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องของการเรียนรู้”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ไม่ใช่เพียงแต่กรุงเทพฯ แต่ จ.ขอนแก่น และ จ.ยะลา ก็ได้รับการพิจารณาคัดเลือกและประกาศรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของเมืองแห่งการเรียนรู้ในปีนี้ด้วย เพราะมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการร่วมมือที่ดี มีทรัพยากรพร้อม และมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองแห่งการเรียนรู้รวม 10 เมือง และสมาชิกที่เหลือ ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, สุโขทัย, พะเยา และ หาดใหญ่ จ.สงขลา

ศานนท์ ยังระบุว่า เพื่อเป็นการฉลองและสนับสนุนการเรียนรู้ กทม. จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านจัด ‘กิจกรรมเทศกาลการอ่านการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร’ (Bangkok Read & Learn Festival 2024) ในเดือนมีนาคม – เมษายน 2567 สอดคล้องกับเทศกาลหนังสือ การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ให้กลุ่มคนที่รักหนังสือและจะได้พบปะนักเขียน และยังเปิดพื้นที่การเรียนรู้ทั่วกรุงเทพฯ เช่น หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร TK Park รวมถึงห้องสมุดหน่วยงานรัฐและเอกชน ร้านหนังสืออิสระ เป็นต้น

ทางกรุงเทพฯ เชื่อว่ากิจกรรมที่จัด จะทำให้กลุ่มบุคคลที่รักการอ่านได้มีโอกาสมาพบปะกัน ทำให้ทุกคนได้รู้จักห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกทม. หวังสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทยให้มีรากฐานที่มั่นคง กระตุ้นเศรษฐกิจด้านธุรกิจร้านหนังสือ และผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

กิจกรรมหนังสือในสวน ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นที่สวนเบญจกิติ ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 ซึ่งรูปแบบกิจกรรมจะเป็นกิจกรรม Human Library ที่เปิดโอกาสให้กับนักอ่านและประชาชนได้เข้าร่วมพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ และครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นที่สวนลุมพินี ในวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยจะมีการแถลงนโยบายกรุงเทพฯ เมืองแห่งหารเรียนรู้ Bangkok Learning City

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม และเมษายนนี้ เช่น กิจกรรมหนังสือในสวน, กิจกรรมหนังสือมนุษย์, Walking Trip และอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน “เทศกาลการอ่านการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (Bangkok Read & Learn Festival 2024)” ได้ที่

  • เพจ กรุงเทพมหานคร https://www.facebook.com/prbangkok/
  • เพจ Bangkok Learning City https://www.facebook.com/BangkokLearningCity

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active