หน.อุทยานฯ ทับลาน โอด “ผู้ใหญ่” อ้าง “มรดกโลกไม่ใช่พ่อ” ดันสร้างเขื่อนกลางป่าดงพญาเย็น

โพสต์เฟซบุ๊ก เผยร่วมวงประชุมออนไลน์ เจอคำพูดผู้ใหญ่ แดกดัน ตำหนิ โยนความผิดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ขัดขวางโครงการขนาดใหญ่กลางป่ามรดกโลก ยอมรับ รู้สึกอัดอั้น ทั้งที่ลูกน้อง เสียสละ ทำงานปกป้องป่าจนถึงแก่ชีวิต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เฟซบุ๊ก Sartra SForester โพสต์กรณีการเสียชีวิตของ นกรณ์ ศรีเรือง หรือ ตั๊ก พนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการลาดตระเวน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่เสียชีวิตถูกกระทิงชน ขณะนำชุดออกเดินลาดตระเวนปกป้องป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเจ้าของโพสต์ ระบุ รู้สึกเศร้าใจต่อการจากไปของอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา และในฐานะผู้ร่วมทำงานอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่

“วันที่ตั๊กเสีย หลังจากได้รับโทรศัพท์จากเขาใหญ่  ผมรู้สึกมึนงง ทำอะไรไม่ถูก คิดอะไรไม่ออก… เจ็บใจที่ทำไมคนดี ๆ อย่างนี้ ต้องมาจากไปเร็ว ทีคนที่ทำเลว กอบโกยแต่ประโยชน์ส่วนตัวทำไมอยู่กันนานนัก แต่นั่นก็เป็นชะตาชีวิตของพวกเรา สัตว์ป่าเดรัจฉานตัวนั้นก็กระทำไปด้วยสัญชาตญาณเอาชีวิตรอด คงไม่อาจโกรธเกลียดมันได้ ตั๊กได้ทำงานเพื่อปกป้องป่าจนนาทีสุดท้ายของชีวิต เป็นลูกผู้ชายที่ต้องสรรเสริญ”

พิธีพระราชทานเพลิงศพ นกรณ์ ศรีเรือง พนักงานพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
(ภาพจาก FB : Sartra SForester)

นอกจากข้อความไว้อาลัย เนื้อหาบางส่วนที่โพสต์ ยังระบุถึงกรณีแผนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยอ้างจากการประชุมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าของโพสต์ กำลังร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพพนักงานพิทักษ์ป่า

“ผมได้เปิดโทรศัพท์เพื่อดูและรับฟังการประชุมทางโปรแกรมไมโครซอฟทีมในหัวข้อสำคัญ ซึ่งมีผลโดยตรงต่องานของผมไปด้วย ผมได้เห็นการแสดงความคิดของบุคคลระดับสูง และผู้บริหารท้องที่ระดับสูงหลายคน แต่ส่วนใหญ่ใช้ความคิดความวิเคราะห์ ความแยกแยะในระดับตื้นต่ำ เหมือนคนขี้เมา งอแง เพื่อจะเอาอะไรซักอย่าง มีการใช้คำพูดเชิงเหยียดหยามคนที่ทำงานอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ว่า เป็นพวกขัดขวางความเจริญ ความอยู่สบายของพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อนเพราะไม่ยอมให้สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในป่าเพื่อขวางน้ำเอาไว้ ทั้งๆ ที่ผู้บริหารหน่วยงานของผมได้พยายามชี้แจงด้วยความสุภาพ เพื่ออธิบายให้ทราบถึงเหตุผลที่ไม่ควรให้เกิดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่  แต่กลับถูกใช้คำพูดผสมอารมณ์เสียในการหารือในที่ประชุม ไม่เพียงแค่ผม หรือ ตั๊กที่นอนอยู่ในโลงเบื้องหน้าผมเท่านั้นที่รู้สึกสับสน  ผมเชื่อว่าคนอื่น ๆ ที่เจ็บป่วย ล้มตายจากการทำหน้าที่เพื่อทำให้ได้เป็น “มรดกโลก”  และเพื่อปกป้อง “มรดกโลก” ให้ “คนทั้งโลก” เขาขอบคุณชื่นชมประเทศไทย  ก็คงรู้สึกสับสนกันทั้งหมดเช่นกัน”

สำหรับโพสต์ดังกล่าว ถูกแชร์ และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และวิพากษ์วิจารณ์การก่อสร้างโคงการขนาดใหญ่ในผืนป่า


The Active สอบถามประเด็นนี้ ไปยังเจ้าของเฟซบุ๊ก Sartra SForester ซึ่งเจ้าของ คือ ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน อดีตเคยปฏิบัติงานที่เขาใหญ่ บอกว่า สาเหตุที่โพสต์ข้อความแบบนั้น เกิดขึ้นจากความรู้สึกอัดอั้น ตันใจ ของคนที่ติดตามแผนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในผืนป่ามรดกโลก และเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อได้ฟังเหตุผลของผู้หลัก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีต่อการก่อสร้าง 

ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน
(ภาพจาก FB : Sartra SForester)

“ผมนั่งมองศพน้อง เปิดฟังประชุมผู้บังคับบัญชาผมที่พยายามอธิบายความไม่เหมาะสมของพื้นที่ แต่เจอผู้ใหญ่ พูดแดกดัน  มรดกโลกไม่ใช่พ่อ ทุกคนมีอารมณ์ก็พูดแบบนี้ เอาง่าย ๆ น้อยเนื้อต่ำใจ หรือเราจะปล่อยให้มันพังไปเลย ไม่ทำหน้าที่แล้ว”

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน บอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำงานเสี่ยง ลาดตระเวนไม่มีวันหยุด ต้องคอยระวังคนบุกรุกป่า เพื่อรักษาป่าต้นน้ำเอาไว้ แต่เมื่อเกิดเหตุน้ำแล้ง น้ำท่วม เจ้าหน้าที่ กลับเป็นฝ่ายโดนตำหนิ ว่า ไม่ยอมให้สร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ลืมมองที่ต้นเหตุที่แท้จริง และลืมคิดไปว่าหากไม่มีป่า จะยิ่งเกิดผลกระทบมากขึ้นกว่านี้ เวลานี้ไทยเหลือผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไม่มากแล้ว

“กฎหมาย ผ่อนปรนให้คนอยู่กับป่ามากขึ้น บนเงื่อนไขช่วยกันดูแล แต่เพราะคนบางกลุ่มนึกถึงแต่ประโยชน์ที่จะเอาความสะดวกสบาย ได้คืบจะเอาศอก หากมีการก่อสร้างจะเสียผืนป่าถึง 2,000 ไร่ และที่ผู้ใหญ่อ้างว่า เป็นป่าเสื่อมโทรมทั้ง ๆ ที่ป่าแห่งนี้ฟื้นตัวมาเป็น 10 ปีแล้ว หากจะก่อสร้างต้องศึกษาอย่างจริงจัง และหาพื้นที่อื่นที่เหมาะสมมากกว่า หรืออาจลดขนาดของอ่างเก็บน้ำ”

กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลก อยู่ภายใต้ข้อตกลงอนุสัญญาฯ ว่าควรหลีกเลี่ยงหรือยกเลิกแผนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำ  หรือการเข้าทำประโยชน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความโดดเด่นที่เป็นสากลของการเป็นพื้นที่มรดกโลก เพื่อสงวนพื้นที่ไว้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่สำคัญในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส