1 พ.ย. นี้เปิดประเทศ ภาคเศรษฐกิจ – การเมือง ขานรับ แต่ยังมีปัจจัยที่หลายฝ่ายกังวล โจทย์ใหญ่คือ เปิดแบบไหนที่ไม่ต้องกลับไปปิดประเทศกันอีกรอบ
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังแตะหลักหมื่นต่อวัน สถานการณ์โควิด-19 ภาคใต้ที่ยังหนัก วัคซีนที่ยังไม่ได้ตามเป้า ถูกตั้งคำถามถึง มาตรการรองรับหากไทยจะเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ถ้ามาตรการหย่อนยาน ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มเป็น 2-3 หมื่นคน/วัน ตามฉากทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุข
ในสถานการณ์ปกติก็คุมระบาดกันยากอยู่แล้ว ขณะนี้อย่าลืมว่าบางพื้นที่ระบาดยังต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม กลายเป็นวิกฤตซ้ำซ้อน นี่อาจจะกลายเป็นปัจจัยใหม่ ที่ทำให้การคุมระบาดยากขึ้นไปอีก เพราะข้อสันนิษฐานจากทีมแพทย์ว่า วิกฤตซ้อนวิกฤต ในพื้นที่สีแดงเข้มอาจจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ประเมินว่า หากเกิดการระบาดรอบใหม่ อาจไม่หนักเท่ากับระลอก 3 ที่ผ่านมาเพราะการติดเชื้อมาก ๆ ในครั้งก่อนทำให้คนบางส่วนเกิดภูมิคุ้มกัน ยังไม่รวมกับคนที่ฉีดวัคซีนที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้น
การเปิดประเทศรับนักท่องเทียวแบบไม่ต้องกักตัวถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการติดเชื้อกันเองในประเทศ โดยเฉพาะตอนนี้ที่ชายแดนใต้โควิด-19 กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
วันที่ 1 พ.ย. คาดว่าตัวเลขการตายของภาคใต้ คงทะลุร้อย เพราะภาคใต้เพิ่งป่วย ป่วยที่หลังเขาก็ตายที่หลังเขา หวังให้ไม่กระจายไปภาคอื่น ตอนนี้ทุกอย่างย่อหย่อนไปหมด
ไม่ต่างกับ นายแพทย์ เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค มองว่า การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นความเสี่ยงน้อยมากที่จะทำให้เกิดการระบาดซ้ำ เนื่องจากมีมาตรการวัคซีนพาสปอร์ตและการตรวจเชื้อโควิดก่อนเดินทางเข้าประเทศ แต่ปัจจัยที่จะทำให้การระบาดรุนแรงขึ้นอยู่ที่มาตรการควบคุมโรคทางสังคมที่ประชาชนจะให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting)
หลังล็อกดาวน์ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่เวลานี้เรามาถึงทางแยกสำคัญ ถ้ามาตรการคุมโรคไม่ดีพออาจทำให้ผู้ติดเชื้อพุ่งไปแตะ 30,000 คน
หากจะมองว่าสถานการณ์ถึงจุดไหน ถึงจะเรียกว่า “ขั้นวิกฤต” คงต้องดูที่จำนวนผู้ป่วยหนัก ซึ่งปัจจุบันเชื้ออยู่ในช่วงขาลง วันที่ 11 ต.ค. 2564 มีผู้ป่วยหนักที่ใส่ท่อหายใจอยู่ในห้องไอซียู 660 คน ในขณะที่จำนวนห้องไอซีอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีกว่า 1,400 เตียงที่เคยรองรับการระบาดขั้นสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา
กรมการแพทย์ ระบุข้อมูลเชิงสถิติว่า 3% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะเป็นผู้ป่วยหนัก นั่นหมายความว่าหากผู้ติดเชื้อแตะ 30,000 คนต่อเนื่องแค่สัปดาห์เดียว เราอาจกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตเตียงล้นอีกครั้ง
คุมเข้ม คุมโรค วัคซีนพอ ไม่เพิ่มผู้ติดเชื้อใหม่ จนรับไม่ไหว คือเงื่อนไขที่นักระบาดย้ำว่า ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากตัวเลขพุ่ง ไม่เพียงเราต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็อาจไม่สนใจเข้าไทย จนเป้าหมายเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นจริง