จี้ มท. ฟัน “ร้านเหล้า จ.สระบุรี” เย้ยกฎหมาย ถูกสั่งปิดกลับเปิดซ้ำ หวั่นเยาวชนมั่วสุม

ภาคประชาชน ร้อง มหาดไทย ฟันโทษสูงสุด “ร้านเหล้าขาใหญ่ จ.สระบุรี” ปล่อยวัยรุ่นมั่วสุม เหล้า-ยา ไม่เกรงกลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วอนสั่งการทุกจังหวัด ปูพรมตรวจเข้มงวด หวั่นเป็นแหล่งแพร่เชื้อ กระทบแผนเปิดประเทศ

วันนี้(15 ต.ค.64) ที่กระทรวงมหาดไทย ชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วย ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่, เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง, เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี พิริยะ  ฉันทดิลก  รองอธิบดีกรมการปกครอง มารับเรื่องแทน เพื่อขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายขั้นสูงสุดกับสถานบริการ “หลังเขา” ที่ละเมิด คำสั่ง คสช. ที่ 22/2558  ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายหลายฉบับ

ชูวิทย์ ระบุถึงกรณีที่ปรากฎเป็นข่าว เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจ สภ.หนองแค เข้าตรวจค้นร้านหลังเขา อ.หนองแค จ.สระบุรี พบวัยรุ่นชาย หญิง จำนวน 220 คน มั่วสุมปาร์ตี้เหล้า-ยา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสถานบันเทิงแห่งนี้ เคยถูกตำรวจ จับกุมเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ข้อหาร่วมกันมั่วสุมทำกิจกรรมอันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และยังเคยถูกชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย บุกจับกุมเมื่อปลายปี 2561 จนถูกสั่งปิดเป็นเวลา 5 ปี ตามคำสั่ง คสช. แม้เคยถูกสั่งปิด แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า ทางร้านกลับมาเปิดใหม่ในพื้นที่เดิม โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และเหตุการณ์ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 8 คน ซึ่งนักเที่ยวต้องถูกกักตัวทั้งหมดที่ศูนย์พักคอย 14 วัน

เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีเครือข่ายต่างๆ ตระหนักในประเด็นปัญหาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดปัญหาสังคม รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และเอกชน รณรงค์และบังคับใช้กฎหมายปกป้องเด็ก เยาวชน และประชาชนให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ จึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ดังนี้ 

1. ขอให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายขั้นสูงสุดกับสถานบันเทิงแห่งนี้ที่ละเมิด คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558  ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ร.บ.สถานบริการ  พ.ร.บ.ยาเสพติด และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีพฤติกรรมการกระทำผิดที่ซ้ำซากและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งการฝ่าฝืนเปิดในสถานที่เดิมนี้ยังเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2559 อีกด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย


2. ขอให้กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งกำชับทุกจังหวัดให้ตรวจสอบ ดูแล กวดขัน สถานบริการหรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ  พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น และนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่”


3. เครือข่ายฯ เข้าใจถึงความเดือดร้อนของสถานประกอบการ สถานบริการ ร้านเหล้า ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายมีการผ่อนผันให้สามารถดำเนินธุรกิจได้   ทุกสถานประกอบการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา  ทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาสังคมอื่นๆ ตลอดจนสถานบริการควรช่วยกันตรวจสอบจัดการผู้ประกอบการที่สร้างปัญหา ทำผิดกฎหมาย ไม่เคารพกติกาบ้านเมือง  


4. เครือข่ายขอให้กำลังใจกรมการปกครอง  และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความสงบสุขของสังคม และขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง  แจ้งเหตุร้านเหล้าผับบาร์ที่ทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ


ณัฐพงศ์  สำเภาแก้ว  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง  กล่าวว่า สถานบันเทิงแห่งนี้ กระทำความผิดหลายครั้ง ในประเด็นเดิม ๆ เคยถูกสั่งปิด แต่ก็สามารถกลับมาเปิดใหม่ในพื้นที่เดิมโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และโรคระบาด  ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้มีการลงโทษตามกฎหมายสูงสุด  มิใช่มุ่งเอาผิดแค่ผู้เข้ามาใช้บริการ  และควรพิจารณาด้วยว่ามีใครที่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ 

“กระทรวงมหาดไทยควรมีข้อสั่งการให้ทุกจังหวัดตรวจสอบ และเข้มงวดสถานบันเทิง  การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยเฉพาะขณะนี้เรากำลังจะเดินหน้าเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จึงไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สถานบันเทิงกลายเป็นจุดเสี่ยงแพร่โรค เกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ขึ้นมาอีก ซึ่งอาจจะกระทบกับแผนการเปิดประเทศของเราได้   จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันมิใช่ยอมทำผิดกฎหมายเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ จึงอยากขอร้องผู้ประกอบการว่าอย่าทำเรื่องแบบนี้เลย  เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโควิด ยังทำให้เด็กเยาวชนไปมั่วสุม ดังนั้นควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำธุรกิจต้องมีจริยธรรม หยุดอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนกับสังคม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ