เสียงครวญ จาก “ควาญ” วอนรัฐ เยียวยา ตกงานปางช้างปิด – ช้างอดตาย ไร้ที่อยู่

“ควาญช้าง” ทั่วประเทศนับร้อยชีวิต ตกงานร่วม 2 ปี ไร้หน่วยงานเหลียวแล ต้องไลฟ์ขายผลไม้เลี้ยงช้าง ดันตกเป็นจำเลยสังคม “เอาช้างมาหากิน” ร้อง “นายกฯ – วราวุธ – ททท.” ช่วยในฐานะหนึ่งในฟันเฟืองการท่องเที่ยว

วานนี้ (17 ต.ค.64) ทวิตเตอร์ “รวมช้างตกงาน” หนึ่งในการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ (Social Movement) ช่วยเหลือควาญช้างที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากปางช้างที่ปิดตัวทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 เผยแพร่คลิปความยาว 2.19 นาที โดยมีควาญช้างในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จ.สุรินทร์ และจ.เชียงใหม่ ร่วมกันส่งเสียงสะท้อนไปถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือ เยียวยา หลังไม่สามารถกลับมารับนักท่องเที่ยวได้นานกว่า 2 ปี จนทำให้ขาดรายได้ ไม่มีเงินซื้ออาหารเลี้ยงช้าง ซึ่งมีช้างหลายเชือกที่เจ็บป่วย ล้มตาย

เสียงเรียกร้องจากควาญช้าง ถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เสาวภาคย์ ขันมั่น หนึ่งในผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์รวมช้างตกงาน

The Active พูดคุยกับ เสาวภาคย์ ขันมั่น หนึ่งในผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์ และ #รวมช้างตกงาน บอกว่า การเคลื่อนไหวเริ่มจากกระแสการฝากร้านในโลกออนไลน์ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าหนึ่งในนั้นคือการ “ฝากช้าง” หรือการถ่ายทอดสดขายผลไม้เลี้ยงช้างในสื่อออนไลน์ เนื่องจากที่ผ่านมาปางช้างเอกชนหลายแห่งปิดตัวลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ควาญช้างหลายคนทยอยพาช้างกลับภูมิลำเนา ส่วนคนที่ตัดสินใจอยู่ต่อต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการไลฟ์ขายผลไม้เลี้ยงช้าง โดยพบว่า มีควาญช้างไม่ต่ำกว่า 100 คน ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบ

“เราเจอทัศนคติที่ค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย ทั้งเรื่องช้างเร่ ช้างขอทาน ให้ปล่อยช้างคืนป่า ซึ่งถ้าคุณลองตั้งใจฟังตลอดการไลฟ์ไม่ต่ำกว่า 2 ชม. เราจะได้ยินว่าเขาไม่อยากทำสิ่งนี้แต่เขากำลังหาทุนต่อชีวิตตัวเองและช้างของเขา ซึ่งที่เราเห็นมันไม่ใช่ปัญหาวันต่อวันแล้ว เพราะต่อให้พวกเราช่วยกันโอนเงินทุกวันเราไม่สามารถซื้อปางช้างไว้ได้ การแก้ปัญหาเชิงนโยบายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน อย่าให้ประชาชนแก้ปัญหากันเองแบบที่ผ่านมา”

สำหรับควาญช้างส่วนหนึ่งในเมืองพัทยา บอกว่า ช้าง 1 เชือก จะกินอาหารประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ยกตัวอย่าง ช้าง 3 ตัน เท่ากับต้องกินวันละ 300 กิโลกรัม ทำให้ยังมีค่าใช้จ่ายทุกวัน ไม่เว้นสถานการณ์โควิด-19 ที่ปางช้างต้องปิดตัวลง ทางเลือกในเวลานี้จึงมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน

1. หากควาญช้างจะกัดฟันสู้ เพื่อรอให้ปางช้างกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ก็จะต้องมีเงินในกระเป๋าไม่ต่ำกว่าวันละ 1,500 บาท

2. หากปางช้างต้องปิดตัวลงเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ก็จะต้องหารถเพื่อพาช้างกลับบ้าน โดยรถที่ระบุว่าเหมาะกับการเคลื่อนย้ายช้าง จะอยู่ที่รอบละ 12,000-15,000 บาทต่อเที่ยว

อีกปัญหาสำคัญ คือ ช้างทุกเชือกไม่สามารถกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติได้ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นช้างบ้าน หรือผสมพันธุ์ในบ้าน ปางช้าง และพื้นที่ป่าในชนบทก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนช้าง รวมถึงเรื่องของการนำโรคจากช้างเลี้ยงไปสู่สัตว์ป่าซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

คาดการณ์ว่า สิ้นปีนี้หากยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ ปางช้างทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง ที่มีช้างอยู่ในความดูแลเกือบ 3,000 เชือกต้องปิดตัวลง และอาจมีควาญช้างที่ยอมฝ่าฝืนกฎหมายนำช้างออกมาเร่ขายอาหารตามถนนต่าง ๆ หลังไทยพยายามแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนด้วยการออกกฎหมายห้ามช้างเร่ ตาม พ.ร.บ.เคลื่อนย้ายสัตว์ พ.ศ.2495, ประมวลกฎหมายอาญา ม.381 และ ม. 382 ทารุณกรรมสัตว์, พ.ร.บ.ทางหลวง มาตรา 46 ห้ามสัตว์เลี้ยงอยู่บนไหล่ทาง และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จึงเรียกร้องให้รัฐเตรียมหาสถานที่รองรับชั่วคราวเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน