แรงงานไทรอัมพ์ฯ ทวงค่าชดเชยถูกลอยแพ – “สุชาติ” ย้ำใช้งบฯ กลางเยียวยา ทำยาก

รมว.แรงงาน ชี้ไม่มีกฎหมายรองรับ ยืนยันชดเชยเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์กองทุนว่างงาน ประกันสังคม – เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ด้านสหภาพฯ แรงงาน เสนอแก้กฎหมาย ช่วยเหลือแรงงานในอนาคต

วันนี้ (19 ต.ค.64) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยอดีตลูกจ้าง บริษัทผลิตชุดชั้นใน กว่า 100 ชีวิต บุกทำเนียบรัฐบาล ติดตามข้อเรียกร้องกับรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน กรณีลูกจ้างบริษัทตัดเย็บชุดชั้นในสตรีส่งออก “บริลเลียนท์ฯ” ถูกเลิกจ้างกระทันหัน เมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้ามีความพยายามเดินทางยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นำงบกลาง มาจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับกลุ่มแรงงาน ลูกจ้างที่ตกงานจากการเลิกจ้างครั้งนี้กว่า 1,300 คน จำนวนเงิน 242 ล้านบาท หลังจากนั้นให้รัฐไปตามเก็บกับบริษัท

ก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว เคยมาชุมนุมเรียกร้องทั้งที่กระทรวงแรงงาน, กระทรวงยุติธรรม และที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว แต่ยังไม่เป็นผล ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเกือบ 7 เดือน ยังไม่มีการไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ส่วนของ บอดี้แฟชั่น ที่ จ.สมุทรปราการ ได้จ่ายเงินสงเคราะห์ ประกันสังคมลูกจ้าง โดยกฎหมายกองทุนว่างงานไปแล้ว ประมาณ 65 ล้านบาท เงินส่วนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายไปแล้ว 22 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายตามระเบียนกฎหมายที่ทำได้ แต่ในส่วนข้อเรียกร้องที่ผู้นำภาคแรงงาน ขอว่าส่วนที่นายจ้างค้างไว้ 242 ล้านบาท ให้รัฐบาลเอางบฯกลางมาจ่ายก่อนนั้น ถือว่าเรื่องนี้ระเบียบไม่มีรองรับ ทั้งนี้จึงเสนอกับทางผู้นำแรงงานว่าถ้าอยากจะชัดเจนก็ให้ตั้งคณะขึ้นมาพิจารณาด้วยกัน

“เราหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปบางอย่าง เราอยู่ในประเทศไทย ก็ใช้คล้ายกันทั่วโลก ในการที่นายจ้างมาลงทุน นักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศมาลงทุนแล้ว สมมติว่าเลิกจ้างก็ มีกองทุนว่างานประกันสังคม มีเงินสงเคราะห์ลูกจ้างช่วยเหลือในบางส่วน แต่ถ้าให้เราไปจ่ายแทนนายจ้าง ผมเรียนว่า มันจะเป็นเรื่องกฎหมายที่ทั่วโลกไม่ทำกันในส่วนนี้ ส่วนงบฯ กลางเองเราไม่ได้ใช้เฉพาะส่วนนายจ้างที่ลูกจ้างมันมีเรื่องของอุทกภัย น้ำท่วม หรือเรื่องโควิดต่าง ๆ มันไม่สามารถที่จะเอางบพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่เสียภาษีเอามาใช้เฉพาะเรื่องนี้ เงินสงเคราะห์ลูกจ้างก็เป็นเงินของรัฐบาลเหมือนกัน”


ส่วนการหารือระหว่างตัวแทนแรงงาน กับ กระทรวงแรงงาน ได้ 3 ข้อสรุปคือ

  1. นายจ้างได้ถูกออกหมายจับแล้ว และจะประสานกับตำรวจดำเนินการตามหมายจับอย่างเร่งด่วน ในส่วนของทรัพย์สิน บริษัท บริลเลียนท์ฯ ก็พยายามที่จะพิทักษ์ทรัพย์ตามที่ผู้นำแรงงานได้เสนออย่างเร็วที่สุด

  2. สำหรับกรณีสรรพากรเรียกเงินคืน 31 ล้านบาท จะประชุมกองทุนในวันที่ 28 ต.ค. นี้ และจะเชิญ ตัวแทนแรงงาน มาพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุป ว่า หลังจากคุยกับสรรพากรแล้วได้ข้อสรุปอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของภาครัฐต้องประสานงานกัน

  3. การใช้งบฯ กลาง 242 ล้านบาท จ่ายก่อน ต้องมีระเบียบการใช้ ไม่สามารถที่จะใช้ได้ เพราะไม่เคยมีใครใช้ แต่ต้องเป็นการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา ว่าจะใช้ในกฎหมายข้อใด ซึ่งต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

ด้าน จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ระบุว่า รับทราบถึงเงื่อนไขของการใช้งบฯ กลางของรัฐบาล ว่า จะต้องมีขั้นตอนและมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็คาดหวังว่า ในเมื่อมีแนวทางแก้ผ่านการใช้กฏหมายแรงงานได้ ก็อยากจะให้เกิดการแก้ไข ไม่ใช่เพื่อคนงาน 1,300 คน ของบริษัท “บริลเลียนท์ฯ” แต่แก้เพื่อประโยชน์ของแรงงานไทยในอนาคตด้วย

“งบฯ ที่บอกว่า ทำไม่ได้เราก็จะสู้กันต่อ และหากข้อกฎหมายแก้ไขได้ ไม่ใช่แค่พวกเรา แต่หมายถึงสวัสดิการ ชีวิตของแรงงานไทยอีกหลายคน แม้จะต้องใช้เวลาในการแก้ไขที่นาน ถึงเราไม่ได้ในตอนนี้แต่ก็คาดหวังให้ในอนาคตแก้ได้”

ขณะที่ รมว.กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า ประเด็นใดที่พอทำได้โดยอำนาจ จะดำเนินการทันที

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ