แม้สถานการณ์น้ำตอนบนลุ่มเจ้าพระยา-ท่าจีน น้ำในลำน้ำลดลงต่อเนื่อง แต่ยอดน้ำสูงสุดเริ่มลงมาใน “สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร” กรมชลฯ เร่งบริหารจัดการลดผลกระทบ ก่อนพายุลูกใหม่ซ้ำอีก
วันนี้ (23 ต.ค. 2564) พงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน ทำให้เกิดน้ำท่าไหลหลากลงสู่เเม่น้ำท่าจีน ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในบางช่วงที่ไหลผ่านบริเวณ อำเภอเมือง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เศรษฐกิจบางแห่ง
ขณะนี้เร่งแก้ไขปัญหาด้วยการจัดจราจรน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน คือ ลดการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พลเทพ (ปากแม่น้ำท่าจีน) จากอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และจะทยอยลดลงตามลำดับ พร้อมกันนี้ ได้ใช้คลองชลประทานฝั่งตะวันตกรับน้ำเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง หรือ (คลอง มอ.) จากอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 25 ลูกบาศก์เมตร /วินาที และคลองมะขามเฒ่า-กระเสียวหรือ (คลอง มก.) จากอัตรา 8 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 12 ลูกบาศก์เมตร /วินาที ด้านฝั่งตะวันออก เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตร.มโนรมย์ จากอัตรา 120 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 140 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร.มหาราช จากอัตรา 31 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 35 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จังหวัดนครสวรรค์ ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว โดยเช้าวันนี้ ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 2,592 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในขณะที่แม่น้ำสะแกกรังลดลงเช่นกัน ทำให้ปริมาณที่ไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนทยอยลดลงในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคกลางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนในปริมาณมาก ส่งผลให้ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในที่ลุ่มต่ำเป็นแห่ง ๆ กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในพื้นที่ตอนล่างทั้ง 2 ฝั่งเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันออก ที่มีการระบายน้ำผ่านคลองแนวตั้งต่าง ๆ ลงสู่ทะเล ส่วนหนึ่งจะผันระบายออกไปทางแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ส่วนด้านฝั่งตะวันตกจะใช้คลองระบายน้ำต่าง ๆ ในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเช่นกัน
นอกจากนี้ ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังได้ใช้ ปตร.คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลงอีกด้วย ซึ่งการจัดจราจรน้ำ จะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบต่อชุมชน ที่อยู่ริมน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน
ส่วนสถานการณ์พายุที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง และคาดว่า ในช่วงวันที่ 27 – 28 ตุลาคม 2564 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง อาจมีผลกระทบต่อประเทศไทยบางส่วนที่จะมีฝนเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาคอีสาน ภาคภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่ก็ต้องดูทิศทางของพายุอีกครั้ง เพราะขณะนี้ตอนบนของไทยเริ่มมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมประเทศไทยตอนบนหลายจังหวัด ซึ่งมลอากาศเย็นอาจทำให้เส้นทางของพายุเปลี่ยนทิศทางได้