ย้ำแม้พายุไม่เข้าสู่ไทยโดยตรง แต่มีผลให้เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมากหลายจังหวัด ขณะที่ นักวิชาการด้านภัยพิบัติ คาดการณ์ ชุมชนเปราะบางเสี่ยงสูง กระทบน้ำทวมซ้ำ
พายุโซนร้อน ‘วิภา’ ตั้งชื่อโดยประเทศไทย หมายถึง ผู้หญิง เป็นพายุลูกที่ 6 ของปี 2568 เคลื่อนที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฤดูพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ชื่อ วิภา ถูกนำมาใช้ตั้งชื่อพายุถึง 5 ครั้งในประวัติศาสตร์ (2001, 2007, 2013, 2019 และ 2025)
คาดว่าพายุนี้ จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองท้ายบิ่ญ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 22 ก.ค. 68 โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ตามลำดับ
หลังจากนั้นพายุนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุม ที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนต่อไป ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย


สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ของจีน รายงานว่า พายุพัดขึ้นฝั่งที่เมืองไถซาน มณฑลกวางตุ้ง โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุอยู่ที่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหลังจากขึ้นฝั่ง ไต้ฝุ่นวิภาอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีนยังคงเตือนภัยระดับสีเหลือง ให้เฝ้าระวังพายุลูกนี้ พร้อมเตือนภัยฝนตกหนักในระดับสีส้ม
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บางเมืองตัดสินใจอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงสูง โดยใช้ศูนย์กีฬาเป็นที่พักพิงชั่วคราว ส่วนเมืองริมชายฝั่งสั่งการย้ายคนงานออกจากสถานที่ก่อสร้าง เรือประมง ท่าเรือพร้อมสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวริมชายฝั่งทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ หลายเมืองเผชิญน้ำท่วมตั้งแต่พายุวิภายังไม่พัดขึ้นฝั่ง โดยที่เมืองไหโข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน เผชิญกระแสลมแรงและมีน้ำท่วมขัง

ส่วนใน ฮ่องกง หลายจุดต้นไม้หักโค่นจากแรงลม โดยเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานต้นไม้ล้มมากกว่า 450 ครั้ง และมีรายงานน้ำท่วมเล็กน้อยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนมากกว่า 250 คน ต้องอพยพไปขอความช่วยเหลือตามศูนย์พักพิงชั่วคราว และทางการยังสั่งระงับการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนและศูนย์รับเลี้ยงเด็กทุกแห่ง มีรายงานว่ามีประชาชนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 26 คน
ขณะที่ บริเวณริมชายฝั่ง พบว่า มีคลื่นลมแรงระหว่างที่ไต้ฝุ่นวิภาเคลื่อนผ่านฮ่องกง โดยหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาฮ่องกง ระบุว่า วัดความเร็วลมได้ประมาณ 140-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไต้ฝุ่นวิภาเป็นไต้ฝุ่นลูกที่ 6 ของปีนี้ ที่พัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของจีน โดยคาดการณ์ว่า จะเคลื่อนตัวไปถึงทางตอนเหนือของเวียดนามในวันที่ 22 ก.ค.นี้
หลายจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ
ส่วนในพื้นที่ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย หลังประสบปัญหาน้ำท่วมล่าสุด และบทเรียนครั้งใหญ่ เมื่อปลายปี 2567 ทำให้ทางจังหวัดเร่งเตรียมความพร้อม โดยหากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดปริมาณฝนใกล้เคียงกับปลายปีที่แล้ว ทางจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่า จะแจ้งเตือนภัยที่แม่นยำใน 12 ชั่วโมง
นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมผู้เกี่ยวข้อง เรื่องการเตรียมอพยพประชาชน หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเตรียมศูนย์พักพิงไว้แล้วกว่า 54 แห่ง รองรับได้กว่า 5,600 คน และยังเตรียมสถานที่รองรับการจอดรถมากกว่า 10,500 คัน หากสถานการณ์เกินขีดความสามารถของจังหวัด จะมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังส่วนกลางตามแผนรับมือภัยพิบัติ
ขณะเชียงราย ได้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยทุกหมู่บ้าน และซักซ้อมแผนในพื้นที่เสี่ยง

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า อิทธิพลของพายุวิภา จะเริ่มส่งผลกระทบในหลายจังหวัดตอนบนของไทยวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค. 68) แต่ทิศทางพายุเวลานี้ ที่น่าห่วงคือพื้นที่ น่าน และ เชียงราย อาจเกิดน้ำท่วมหนัก เพราะความชื้นในพื้นที่สูงและน้ำล้นตลิ่งและชุมชนกลุ่มเปราะบาง ส่วนเชียงใหม่ ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำปิงยังปกติ ปัจจุบันมีการวางแผ่นในการพร่องน้ำไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดลงมาเติมในลำน้ำ
แต่หากสถานการณ์รุนแรงเหมือนกับปี 2567 ก็ได้เตรียมพร้อมเรื่องแจ้งเตือนอย่างแม่นยำภายในเวลา 12 ชั่วโมง และการรองรับกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบไว้แล้ว เพราะการปรับปรุงและขุดลอกน้ำปิงเพิ่งทำเสร็จสิ้นไปได้เพียง 30% หากฝนมาเท่ากับตุลาคมปีที่แล้ว 2567 อาจเสี่ยงท่วม แต่ถ้าเตรียมพร้อมล่วงหน้าอาจจัดการได้เร็วสำหรับเมืองเชียงใหม่
ปัญหาน้ำท่วมล่าสุดใน จ.เชียงใหม่ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า น้ำปิงไม่ได้ล้น แต่กลับท่วมเพราะฝนตกไม่นานว่า ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะมีปัญหาขยะอุดตัน จึงระบายน้ำไม่ทัน เป็นเรื่องของเทศบาลที่ต้องจัดการ แต่หากน้ำจะท่วมใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุจากแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง ซึ่งปัจจุบัน ได้เตรียมแผนรองรับน้ำท่วม คือ ฝนเล็กน้อยระดับปกติ รับมือได้, ฝนตกหนักกระจายการจัดการยกระดับเพิ่ม หากตกหนักถึงหนักมาก มีมาตรการหลายอย่างทั้งระบบอพยพ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง จัดจุดพักพิง จุดจอดรถ
เตือน อิทธิพลของพายุ ‘วิภา’
จากอิทธิพลของพายุวิภา และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 21-24 ก.ค. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
21 ก.ค. 2568
ภาคเหนือ : เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร
ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
22 ก.ค. 2568
ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตากกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และนครราชสีมา
ภาคกลาง: นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
23-24 ก.ค. 2568
ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
เฝ้าระวังคลื่นลมทะเลกำลังแรง
สำหรับทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย