ชี้ เกณฑ์ค่าฝุ่นเฉลี่ยไทย ยังสูงกว่า WHO ถึง 3 เท่า เตือน! กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ป้องกันตัวเองเมื่อออกนอกบ้าน ติดตามรายงานคุณภาพอากาศ ผ่าน Air4Thai – AirBKK
วันนี้ (25 ต.ค.2564) ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รายงานสถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผลการตรวจวัดรายภูมิภาค พบภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 5-13 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดได้ 7-19 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร,ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 8-18ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร,ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 8-15ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร,ภาคใต้ตรวจวัดได้ 7-18ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร,กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตรวจวัดได้ 8-27ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสภาพอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 24-27 ตุลาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยและช่วงวันที่ 28-30 ตุลาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้การสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยเฉพาะในช่วง 27-30 ตุลาคมนี้ สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลง
“สถิติย้อนหลัง 5 ปี ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปริมาณฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเริ่มสะสมหนาแน่นตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องไปจนถึงมกราคม ซึ่งปัจจัยของการเกิดการสะสมตัวของฝุ่นในช่วงนี้เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักได้แก่ แหล่งกำเนิดฝุ่นและสภาพอากาศที่หนาวเย็นช่วงปลายปี ซึ่งฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครมาจากการขนส่งเป็นหลักโดยเฉพาะยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซล” ขณะที่ภาคเหนือ อีสาน ปริมาณฝุ่นจะเริ่มสะสมหนาแน่นตั้งแต่เดือนมกราคมและไต่ระดับสูงขึ้นช่วงเดือนมีนาคม
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้าระบุว่าแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 มีอยู่ตลอดทั้งปี เช่น ไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำเนิดที่มาตามฤดูกาล เช่น การเผาป่า เผาเศษชีวมวลในการทำเกษตร ขณะที่ช่วงปลายปีซึ่งมีอากาศที่หนาวเย็น มักจะเกิดปรากฎการณ์ “อินเวอร์ชั่น” “ ส่งผลให้การกดทับของมวลอากาศ การระบายหรือการยกตัวของอากาศไม่ดี เมื่ออากาศยกตัวไม่ดี การกดทับมากขึ้น ความเข้มข้นของฝุ่นจึงสะสมหนาแน่นขึ้นแม้ว่าปริมาตรจะเท่าเดิมก็ตาม” ขณะเดียวกันปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศปรับเกณฑ์คำแนะนำ ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงใหม่ ไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี ไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงให้เห็นถึงอันตรายและการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากพิษภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของไทยยังคงไม่มีการปรับปรุงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายรวมถึงในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองก็ระบุชัดเจนว่าจะมีการปรับค่ามาตรฐานภายในปี 2564 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เท่ากับว่าขณะนี้ค่ามาตรฐานของไทยเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกว่าสามเท่า
ศ.ดร.ศิวัช ยังระบุเพิ่มเติมว่า ผลกระทบด้านสุขภาพนอกจากจะมีข้อมูลยืนยันว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแล้ว ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมายังมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า PM2.5 มีความเชื่อมโยงของการเกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต และโรคตับ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากโควิดยังเกี่ยวข้องกับปริมาณฝุ่นพิษจิ๋วด้วย ช่วงฤดูฝุ่นกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ป้องกันตัวเองเมื่อออกนอกบ้าน ติดตามคุณภาพอากาศรายงานทุกวันผ่าน Air4Thai AirBKK