ภาคประชาชน จี้รัฐแก้ปัญหาโควิด-19 ภาคใต้ ต้องไม่ซ้ำรอย กทม. หลังผู้ติดเชื้อยังขาขึ้นจนระบบสาธารณสุขในพื้นที่ถึงจุดวิกฤต
28 ต.ค. 2564 – เครือข่ายคนทำงานโควิดชุมชน จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ภาคประชาชนจี้รัฐจัดการก่อนวิกฤต โควิดภาคใต้ต้องไม่ซ้ำรอย กทม.” โดย พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผอ.สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงขาขึ้น กังวลเรื่องอัตราการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตเพราะระบบสาธารณสุขอาจถึงจุดที่ไม่สามารถรองรับได้ แม้ขณะนี้มีการทุ่มวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดส แต่ทุกคนยังคงต้องป้องกันตัวเอง ตามมาตรการ Covid Universal Prevention คือการคิดว่าผู้อื่นและตนมีเชื้อ ต้องป้องกันสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง
“การฉีดวัคซีนอาจป้องกันสายพันธุ์ใหม่ไม่ดีนัก แต่อย่างน้อยก็กันเสียชีวิต แต่หากประชาชนไม่มั้นใจ ลังเล ว่าวัคซีนแต่ละตัวภูมิไม่เท่ากัน การรอ ไม่ผิด แต่ต้องชั่งน้ำหนัก พรุ่งนี้จะติดเชื้อไหม จึงรีบฉีดจะดีกว่า”
ส่วนการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานการณ์ภาคใต้ ตอนนี้ทุกคนคือผู้เสี่ยงสูง จึงมีประโยชน์เพื่อรีบนำเข้าสู่ระบบการรักษา และไม่ควรปล่อยให้เตียงเต็ม แล้วค่อยศูนย์ดูแลในชุมชน (CI) แต่ควรทำไว้รองรับตั้งแต่ตอนนี้
ด้าน อารี คุ้มพิทักษ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย (TNP+) กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อแล้วไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล และส่วนใหญ่ 70% หายด้วยตัวเองใน 10 วันซึ่งอาจต้องการการดูแลเบื้องต้น ไม่ต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล แต่ใช้ มาตรการดูแลได้โดยที่บ้าน และชุมชน จะช่วยพยุงระบบสาธารณสุข เก็บเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง คือผู้ป่วยที่มีโอกาสเชื้อลงปอด เข้าถึงรักษา ลดอัตราผู้เสียชีวิต
“ถ้าเราจะอยู่ร่วมโควิด มีคนที่ติดในชุมชน เราสำรองเตียงไว้ที่โรงพยาบาลให้ผู้ป่วยหนัก เราจะไปได้ในระยะยาวควบคู่กับวัคซีน และมาตรการป้องกัน ถ้าคุณอายุไม่ถึง 60 ปี ติดเชื้อ คือ เป็นกลุ่มสีเขียว ก็เข้าสู่ การกักตัวที่บ้าน (HI) มีหน่วยบริการไปรองรับ ให้ยา และติดตามอาการ”
อารี กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์การระบาดหนักในกรุงเทพมหานคร การตั้งศูนย์ดูแลในชุมชน และที่บ้าน (CI/HI) ไม่ได้ทำง่าย ๆ ต้องสื่อสาร ทำความเข้าใจกับชุมชน ตัวเชื้อโควิดอยู่ในสารคัดหลั่ง ที่เป็นปริมาณมาก มีช่องทางออกของเชื้อจากการพูด การจาม ส่วนทางเข้าของเชื้อ คือเยื่อทางเดินหายใจ ไม่สามารถเข้าทางผิวหนัง
“ลดการทำให้โควิดน่ากลัว แต่สร้างความเข้าใจ ว่าอยู่ร่วมกันได้ เรารู้ช่องทางเข้าออกของเชื้อ คุณจัดการผู้ป่วยวัณโรคอย่างไร มันก็เหมือนกัน โควิดมันทำให้น่ากลัวเกินความจำเป็น”
ทั้งนี้เครือข่ายคนทำงานโควิดในชุมชน หรือ Com-Covid ได้เข้ามามีบทบาทหนุนเสริมชุมชน สร้างองค์ความรู้เพื่อสู้กับโควิด พร้อมทั้งประสานต่อรองกับนโยบายรัฐ ซึ่งทำกันมาตลอด กว่า 6 เดือน แต่จนถึงเวลานี้ พบว่า พื้นที่ที่ยังน่าเป็นห่วง คือการระบาดในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือว่า แนวทางคุมระบาดสร้างความสับสบไม่ต่างจากการคุมระบาดในกรุงเทพมหานคร
เครือข่ายฯ จึงออกแถลงการณ์ ต่อแนวทางการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยระบุ ว่าที่ผ่านมาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครแสดงให้เห็นถึงความสับสน ของประชาชนต่อการรับมือโรคระบาด ในขณะที่ระบบรองรับของประเทศก็ถูกมองว่า ยังขาดเอกภาพ สับสน ทั้งข้อมูลและแนวทางที่ไม่ชัดเจน ตอบสนองต่อปัญหาที่ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้เกิดระบบการจัดการที่ดีกว่าเดิม จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ต่อสถานการณ์ระบาดในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเรียกร้องให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ประสานความร่วมมือ กับฝ่ายปกครอง ป้องกันความสับสน และให้สามารถตอบสนองต่อการดูแลประชาชนได้ทันท่วงที
“กระทรวงสาธารณสุข ต้องสร้างชุดข้อมูล ที่ชัดเจน ไม่อคติ และไม่ตีตรา กล่าวโทษประชาชนทั้งด้านการส่งเสริมป้องกัน ระบบการดูแล การเข้าถึงบริการ รวมถึงการสื่อสารเพื่อยืนยันให้เห็นว่าการติดเชื้อโควิด สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้”
แถลงการณ์ ระบุ
แถลงการณ์ ยังเรียกร้อง ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแนวทางดำรงชีวิต ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งต้องเคารพอัตลักษณ์และความเชื่อของประชาชนในการจัดการเรื่องโควิด-19 เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดการร่างกายผู้เสียชีวิต เป็นต้น
ที่สำคัญเห็นว่า ต้องเร่งสร้างความเข้าใจต่อชุดตรวจ ATK ที่ต้องไม่ถูกนำไปตีความที่ผิดวัตถุประสงค์ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การคุมระบาดทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังขอให้กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนประกาศของ องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ เรื่องการกลับเข้าสู่สังคมของผู้ป่วยโควิด-19 หลังครบกำหนดรักษาหรือกักตัว ฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ว่า คนที่กักตัวครบ 14 วันแล้ว คนคนนั้นจะไม่ส่งผ่านเชื้อไปสู่บุคคลอื่น ไม่ต้องกักตัวต่อและไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ
จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งนำประกาศดังกล่าว เผยแพร่สู่สาธารณะและทำให้เป็นหลักปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ต่อการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับเข้าสู่สังคม สุดทาย เรียกร้องให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม ดูแลจัดการ การระบาดของโควิด-19 ในชุมชน ผ่านรูปแบบการดูแลที่บ้าน (HI) และศูนย์ดูแลในชุมชน (CI) ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ด้วย