“พีมูฟ” ลุย ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สร้างความเข้าใจ รวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ร่วมผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านคาดหวัง ยกระดับเครื่องมือแก้ปัญหาจากผลกระทบนโยบายรัฐ ที่ลดทอนวิถีความเป็นอยู่ พื้นที่ทำกิน
วันนี้ (8พ.ย.64) ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พื้นที่ที่เตรียมการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชน ที่อยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจ และรวบรวมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยชาวบ้านเชื่อว่า ร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ จะนำไปสู่การช่วยลดอคติ เสริมศักยภาพตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสร้างความยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์โดยตรงกับชาวบ้าน
พชร คำชำนาญ กองเลขานุการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) บอกว่า การลงพื้นที่เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจ ที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้สร้างรูปธรรม ประกาศให้ชุมชนหลายพื้นที่เป็น “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญเรื่องนี้ ยังเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา เรื่องการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมาย การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสังคม
ทั้งนี้รัฐบาลต้องผลักดันให้มี พ.ร.บ.เขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ภายในปี 2564 ช่วยคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อยกระดับมติดังกล่าวให้เป็นกฎหมายโดยเร่งด่วน กลุ่มพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์ จึงจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชน ประกบเข้าไปด้วย ตามมาตรา 70 ในรัฐธรรมนูญ และตามหลักสิทธิมนุษย์ชน
“ความชอบธรรม ตามหลักปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งไทยได้ไปลงนามเป็นประเทศภาคี แม้ไทยจะไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่านั้น นำมาสู่การที่จะต้องมีกฏหมาย โดยกฏหมายจะได้มาจากการลงพื้นที่รับฟังรวบรวมข้อกังวล ข้อเสนอแนะของกลุ่มชาติพันธุ์ ร่างเป็นกฏหมายภาคประชาชนฉบับนี้ ซึ่งที่ผ่านมากกหมายของรัฐหากไม่มีกฏหมายฉบับประชาชน กฏหมายที่ออกมาจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์”
ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน เน้นหลักการสำคัญ 3 ข้อ
- หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษา , สิทธิในที่ดินและทรัพยากร, สิทธิในการกำหนดตนเอง, สิทธิในความเสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ, สิทธิการมีส่วนร่วม และ สิทธิบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ
- หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อปรับหลักคิดจากการมองชาติพันธุ์เป็นเพียงผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือด้วยการสงเคราะห์ เป็นการคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์, เชื่อมั่นในองค์ความรู้ และศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เปลี่ยนเป็นพลัง มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ
- หลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำจากอคติ
“เน้นย้ำว่า การคุ้มครองสิทธิ์เหล่านี้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่คือสิทธิ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์พึงมี แต่ที่ผ่านมาพวกเขายังไม่ได้รับอย่างเท่าเทียม และป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายกฏหมายฉบับบนี้เป็นเพียงการคืนสิทธิ ที่พวกเขาถูกลดทอนตั้งแต่ต้น เพื่อคืนสิทธิให้พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับเราทุกคนที่เป็นคนในเมืองหรือคนไทยทุกคน ถ้ามีกฏหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะนำไปสู่การแก้ปัญหา สามารถแสดงตัวตน ประกาศพื้นที่ ยืนยันการจัดการทรัพยากรได้ด้วยตนเอง โดยกฏหมายอื่น ๆ ไม่ควรกระทบในพื้นที่”
ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายมีความหวัง ว่า ร่างกฎหมายจะช่วยลดอคติ ยอมรับในวิถีวัฒนธรรม วิถีทำกินอย่างมั่นคง เช่น ไร่หมุนเวียน
เบื้องต้นมีชาวบ้านเข้าชื่อไปแล้ว 80 คน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (9พ.ย.64) ทีมพีมูฟ จะตระเวนไปตามชุมชน เพื่อให้ข้อมูลกับชาวบ้านที่มีสิทธิเลือกตั้ง อีกเกือบ 300 คน ที่ยังไม่ได้มาร่วมรับฟังในวันนี้ และจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเพิ่มเติม