วอนอย่าตั้งธงล่วงหน้า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนจะผ่านหรือไม่ ขอดูที่หลักการและสาระ ไม่ใช่ตัวผู้เสนอ ยืนยันยกเลิก ส.ว. ล้างไพ่องค์กรอิสระ ต้นตอปัญหาที่แท้จริง
ในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ย.64) ที่ประชุมรัฐสภา มีนัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ฉบับประชาชน ที่มีผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 135,247 คน โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution เป็นผู้เสนอร่างฯ ซึ่งสาระสำคัญตามหลักการและเหตุผล คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐสภา ในหมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่องรัฐสภา โดยยกเลิกการมีอยู่ของวุฒิสภา ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร เพียงสภาเดียวเท่านั้น นอกจากนี้คือการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งชุด พร้อมแก้ปัญหา “ตุลาการภิวัฒน์“
The Active พูดคุยกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ ก่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระแรก “ขั้นรับหลักการ” ในวันพรุ่งนี้ (16พ.ย.64) โดยมองว่า เป็นความคืบหน้าอีกครั้งสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเจตจำนงของประชาชน รวมถึงคำมั่นสัญญาของรัฐบาล และรัฐสภา แต่ระยะเวลาที่ผ่านมากลับพบว่า กลไกรัฐสภาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นไปอย่าง “ล่าช้า” ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี กลับผ่านได้เพียงร่างแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งไม่ได้แตะต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เมื่อ พริษฐ์ มองว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน คือ “เครื่องมือการสืบทอดอำนาจ” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ เปรียบเสมือวัคซีนเข็มแรก เพื่อแก้ปัญหาประเทศ คือ เอากลไกที่ใช้ในการสือบทอดอำนาจออกไป”
พริษฐ์ บอกด้วยว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา เพราะประชาชนต้องเข้าคูหาถึง 3 ครั้ง 1. การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. การเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และ 3. ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น และเนื่องจากเป็นการแก้รายมาตรา จึงไม่ได้แก้ทุกปัญหา แต่ปัญหาหลัก คือ ต้องเอากลไกสืบทอดอำนาจ, กระบวนการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีออกไป
เรียบง่ายที่สุด ใกล้เคียงกับระบอบประชาธิปไตยที่สุด
ส่วนข้อเสนอเพื่อยกเลิก ส.ว. รื้อกระบวนการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และการให้อำนาจกับ ส.ส. เป็นสำคัญนั้น พริษฐ์ มองว่า เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมากที่สุด เพราะ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ไม่ได้มีส่วนที่ยึดโยงกับประชาชน แต่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอย่างที่ควรจะเป็น การยกเลิกระบบ ส.ว. จะมีประโยชน์ต่อโครงสร้างทางการเมืองไทยมากกว่า
“สำหรับประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาทั่วโลก มีจำนวน 2 ใน 3 ของทั้งหมดที่ใช้ระบบ “สภาเดี่ยว” และยืนยันว่า ไม่ใช่การผูกขาดอำนาจให้ ส.ส. แต่เป้าหมาย คือ การสร้างระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และจะมีอำนาจสูงสุดได้ จึงต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และ ส.ส. ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อหลักการ แต่สิ่งที่ผิดวิสัยมากกว่า คือ การมี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน กลับมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ เป็นสิ่งที่ผิดวิสัยมากกว่า“
พริษฐ์ ยังบอกด้วยว่า ส.ว. ต้องไม่ใช้เหตุผลบนพื้นฐานว่า “ตนเองจะได้หรือเสียประโยชน์” เพราะหากต้องยกมือโหวตด้วยเหตุผลนั้น ย่อมไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้ พริษฐ์ หวังว่า ส.ว. จะไม่มองเพียงแค่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตัดอำนาจของตนไป แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนร่วม และโครงสร้างรัฐสภาที่ตอบโจทย์ต่อการปกครองประเทศด้วย
ปรับที่มาศาลรัฐธรรมนูญ เรียกศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นแก่สังคม
การจัดการกับปัญหาตุลาการภิวัฒน์ และการแทรงแซงความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญ เคยถูกนำเสนอแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปแล้วในครั้งที่ผ่านมา แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกตีตกไป ครั้งนี้กลุุ่ม Re-solution ยังคงมาพร้อมกับข้อเสนอจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” คือ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจบัน พ้นจากตำแหน่ง และปรับที่มาขององค์กรอิสระ ที่ต้องถูกรับรองโดย ส.ว. เป็นเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และให้ประชาชนมีสิทธิยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งได้ด้วย
พริษฐ์ ยังเห็นว่า กระบวนการที่ผ่านมาเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อย่างแท้จริง เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันล้วนถูกแต่งตั้งโดย คสช. การเปลี่ยนที่มาของการดำรงตำแหน่ง ถือเป็นการเรียกคืน “ศรัทธา” และหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามถึงความไม่เป็น กลางจากประชาชน และให้มั่นใจว่า เป็นผู้ที่ได้รับความไว้ใจจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล
สัญญาณ ‘ไม่ผ่าน’ สะท้อนความ ‘ไม่ปกติ’ ทางการเมือง
ส่วนที่มีสัญญาณมาจากฝ่ายการเมือง ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ว่า จะลงมติไม่รับหลักการในร่างฯ ดังกล่าวนั้น พริษฐ์ มองว่า เป็น “สัญญาณที่ไม่ปกติ” ทางการเมือง และสะท้อนว่ายังไม่ได้อยู่ในระบบการเมืองที่ดี และเป็นประชาธิปไตย เหตุใดสปอตไลท์จึงไปตกอยู่ที่ ส.ว. เสมือนต้องไปวิงวอน ขอร้อง ให้ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อมโยงจากประชาชน จึงตอกย้ำว่าเป็นสิ่งที่ควรตัดออกจากรัฐธรรมนูญมากที่สุด
“เชิญชวนให้ประชาชนติดตามการปภิปราย และการนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระแรกวันพรุ่งนี้(16 พ.ย.64) การต่อสู้อาจไม่ใช่มิติของการเสนอกฎหมายเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้ ให้ประชาชนได้เห็นต้นตอของปัญหามากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนเห็นว่าอำนาจที่มีอยู่ของ ส.ว. ไม่ถูกต้อง ให้มีประชาชนจำนวนเยอะขึ้น เห็นว่าที่มาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ถือเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว”
ท้ายที่สุด พริษฐ์ ยืนยัน ไม่ว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยหรือไม่ กับร่างฯ นี้ขอเพียงอย่ามุ่งเน้นว่า ใครเป็นผู้นำเสนอ แต่ขอให้ดูที่เนื้อหาสาระเป็นสำคัญ และมองว่าร่างฯ นี้มีประชาชนร่วมเสนอชื่อมากกว่า 130,000 คน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่ม Re-solution ไม่ได้ทำให้ใครได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ แต่ต้องการได้ระบบที่เป็นกลาง ต้องการระบบที่ประชาชนเท่าเทียมกันเพื่อร่วมกำหนดอนาคตประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นกลางจริง ๆ ให้ทุกความฝัน มีพื้นที่ได้รับฟังอย่างแท้จริง