“สายพันธุ์โอมิครอน” น่ากังวลจนต้องปิดประเทศหรือไม่ ?

นักระบาดวิทยา ชี้ โอมิครอน มีโอกาสเข้าไทยไม่ช้าก็เร็ว แต่ปิดประเทศยังไม่เหมาะ ภาค ปชช. แนะรัฐตั้งรับลงทุนชุดตรวจ RT- PCR แจกหน้ากากอนามัย ขณะที่ผู้ที่ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ พบอาการไม่รุนแรง

วัคซีนที่ฉีดไปแล้ว 70% จะสูญเปล่าหรือไม่ ไทยจะต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้งหรือ? หลังพบสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน เรื่องนี้ยังเป็นคำถาม ซึ่งข้อมูลในวงการแพทย์ก็ยังไม่มากพอที่จะชี้ได้ว่า ไวรัสตัวใหม่น่ากลัวแค่ไหน จึงเร็วไปหรือไม่ สำหรับข้อสังเกตบางฝ่ายเรื่องการปิดประเทศ

แม้มาตรการล่าสุดของไทย คือ สั่งห้ามการเดินทางจาก 8 ประเทศในแอฟริกาเข้าไทย แต่การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กระจายอยู่ 19 พื้นที่ 4 ทวีปรายงานล่าสุด (30 พ.ย. 2564) จึงเกิดคำถามว่าหากต้องการที่จะสกัดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จำเป็นต้องระงับการเดินทางในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อด้วยหรือไม่ ขณะที่บางประเทศอย่างญี่ปุ่น และอิสราเอล เริ่ม “ปิดประเทศ” กันแล้ว 

หลังเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางรวม 122,398 คน พบผู้ติดเชื้อรวม 160 ราย คิดเป็น 0.13% ตัวเลขนี้ อนุมานได้ว่า มาตรการในการคัดกรองต้นทางปลายทางค่อนข้างเห็นผล โดยประเทศที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดเช่น 

  • สหรัฐอเมริกา 
  • เยอรมนี 
  • สาธารณรัฐเช็ก 
  • เนเธอร์แลนด์ 
  • สหราชอาณาจักร 
  • ญี่ปุ่น 
  • รัสเซีย 
  • ฝรั่งเศส 
  • เกาหลีใต้ 
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

ในจำนวนประเทศที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดเวลานี้ 5 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว

  • อังกฤษ
  • เยอรมนี
  • เนเธอร์แลนด์
  • สาธารณรัฐเช็ก
  • ญี่ปุ่น

นี่เป็นคำถามใหญ่ว่าการจำกัดการเดินทางเฉพาะประเทศในแอฟริกาเพียงพอหรือไม่ ศ. นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประเมินว่า แม้โควิดสายพันธุ์ใหม่ สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดลตา 50% แต่ก็ยังมีข้อมูลไม่มากพอ เช่นเดียวกับการมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน แต่นักระบาดคนนี้ ยืนยันว่า สายพันธุ์นี้มีโอกาสเข้าไทยไม่ช้าก็เร็วแต่จะให้ปิดประเทศเวลานี้คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่หากดูอาการทางคลินิก กับผู้ที่ติดเชื้อในประเทศแอฟริกาใต้ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าอาการไม่รุนแรงมาก

“ถ้าเราไม่ให้คนยุโรปเข้า ก็คือ​ ปิดประเทศ รัฐบาล​ ฝ่ายเศรษฐกิจ​ และชาวบ้านคงไม่ยอม​  เพราะเรายังไม่มีข้อมูลชัดเจน หมอที่แอฟริกาใต้​ที่เขาดูแลคนไข้บอกว่า อาการน้อย ถ้าอาการน้อยแล้ว​ แพร่ได้มากก็ช่างปะไร อาจจะน่ากลัวในแง่ของการแพร่เชื้อ​ แต่จะทำให้ตายมากน้อยแค่ไหนยังไม่รู้”

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา มอ.

วัคซีนความหวังสกัด “โอมิครอน” ได้แค่ไหน?

วัคซีนที่ฉีดไปแล้วมีความหวังแค่ไหน เพราะหากประเมินดูตั้งแต่เริ่มมีสายพันธุ์แรก ๆ เข้าไทยจนถึงวันนี้ ในช่วงที่เราเจอกับไวรัสกลายพันธุ์ ก็มาพร้อมกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลง

ไทยเริ่มพบสายพันธุ์อัลฟา ในช่วง เมษายน 2564 แพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 40-90% ถัดมาคือ สายพันธุ์เบตา แพร่ได้ช้ากว่า แต่อาการรุนแรง จากนั้นก็เจอ เดลตา ช่วงพฤษภาคม ที่มีอัตราการแพร่เชื้อเร็วกว่า อัลฟา 40% กระทั่งล่าสุด สายพันธุ์โอมิครอน แพร่เร็วกว่าเดลตา 50% เป็นที่น่ากังวลว่า หากหลุดเข้ามาจะเสียหายกว่า ทุกระลอกหรือไม่

เปรียบเทียบความเร็วในการแพร่กระจาย 4 สายพันธุ์โควิด

 อัลฟาเบตาเดลตาโอมิครอน 
จุดเริ่มต้นก.ย.2563 อังกฤษต.ค.2563 แอฟริกาใต้ธ.ค.2563 อินเดียพ.ย. 2564แอฟริกาใต้(บอสตนาวา)
พบในไทยเม.ย.2564พ.ค.2564พ.ค.2564ยังไม่พบ …
ความเร็วในการแพร่กระจายเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 40-90%ช้ากว่าอัลฟา และเดลตาเร็วกว่าอัลฟา 40%เร็วกว่าเดลตา 50%
ประสิทธิภาพวัคซีนAZ 74%FZ 93%SV 50.7%AZ 10%FZ 75%SV ไม่ทราบAZ 64%FZ 88%SV 50.7%AZ ลดลงFZ ลดลงSV ไม่ทราบ 
ที่มา กระทรวงสาธารณสุข รวบรวม วันที่ 29 พ.ย. 64

ในทุกครั้งที่โควิดกลายพันธุ์ ประสิทธิภาพวัคซีนก็ดูเหมือนจะลดลง เช่น สายพันธุ์อัลฟา ที่แม้จะฉีดด้วยแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของไทยป้องกันได้ถึง 74% แต่เมื่อกลายเป็น สายพันธุ์เดลตาประสิทธิภาพวัคซีนก็ลดลงมาเหลือ 64% ขณะที่โอมิครอน ยังไม่พบข้อมูล 

ทีมข่าวสอบถามไปยัง นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็ปฏิเสธให้ข้อมูลเรื่องนี้เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ ขณะที่ ศ.นพ.วีระศักดิ์ ย้ำว่า มีโอกาสที่การฉีดวัคซีนจะไม่เป็นไปตามทฤษฎี เพราะปัจจุบันสายพันธุ์เดลตาก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

อีกประเด็นที่เป็นความกังวลใหญ่คือเรื่องของการตรวจคัดกรอง ที่อาจพบผลลวง หรือ ตรวจหาไม่เจอ นิมิตร์ เทียนอุดม คณะทำงานโควิดชุมชน เครือข่ายภาคประชาชน จึงมีข้อเสนอให้รัฐหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนชุดตรวจRT-PCR เพราะการตรวจเร็วจะช่วยตัดวงจรระบาด ขณะที่การยกการด์อย่างการสวมหน้ากากอนามัยก็เป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องสนับสนุน

นับแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้ พบผู้ที่เดินทางจาก 8 ประเทศแอฟริกาเข้าไทยแล้วกว่า 1 พันคน ซึ่ง นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค บอกว่า ได้ประสานเครือข่ายการควบคุมโรคระดับเขตติดตามแล้ว หากพบการติดเชื้อจะส่งตรวจแยกสายพันธุ์เพื่อให้รู้สถานการณ์และควบคุมโรคทันท่วงที

“ไทยมีระบบการเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยการตรวจหาเชื้อในจำนวนที่เพียงพอ และส่งไปศูนย์ข้อมูลสากล ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์”

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน

หลายภาคส่วนเห็นตรงกัน ว่า ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่า สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน รุนแรงแค่ไหน การยกการ์ดของหลายประเทศสะท้อนถึงความกังวล เพราะไม่ใช่แค่การควบคุมโรค แต่ยังหมายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ไทยก็อยู่บนทางสองแพร่ง ยกการ์ดสูงปิดประเทศก็กระทบเศรษฐกิจ การเข้มมาตรการคุมโรคส่วนบุคคล จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เราทำได้ดีที่สุดเวลานี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS