‘สื่อสาธารณะ’ ต้องเป็นมากกว่า ‘สื่อ’ ทางรอดท่ามกลางการแข่งขันสูง

มองภาพอนาคตสื่อสาธารณะไทย ท่ามกลางความท้าทายในอุตสาหกรรมสื่อ ชี้ ยึดโยงเนื้อหาคุณภาพ ปัจจัย สร้างความเชื่อมั่น ทางรอดสื่ออย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2568 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาภาพอนาคตของสื่อสาธารณะไทย โดยวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อ ผลกระทบ โอกาส ความท้าทาย และวาระสำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาสื่อสาธารณะไทย

“ในยุคนี้ ใคร ๆ ก็เป็น ใคร ๆ ก็ทำสื่อได้”

นี่คือคำถามที่เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาในครั้งนี้ ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสื่อสาธารณะครั้งใหญ่ เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็เผชิญเช่นเดียวกัน

แล้วอนาคตของสื่อสาธารณะในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ? จากการสอบถาม สัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กร และประชาชนหลากหลายกลุ่มพบว่า มีอยู่ 2 คำตอบคือ

1. การพัฒนาของสื่อสาธารณะคงไม่เกินไปมากกว่านี้แล้ว

2. คาดเดาไม่ออก เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อ 10 ปี หรือ 20 ปีที่ผ่านมา เคยลองคาดการณ์แล้ว แต่ไม่ถูก

ผศ.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าโครงการ “อนาคตสื่อสาธารณะไทย” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

อย่างไรก็ตามถ้ามองตาม 2 แบบนี้ ผศ.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าโครงการ “อนาคตสื่อสาธารณะไทย” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่า การรับมือของสื่อสาธารณะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง คงเป็นแบบแก้ไปตามสถานการณ์ คือทำไปแก้ไป ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

แต่ถ้าขยายมุมมองให้กว้างขึ้น คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นแบบใดได้อีกบ้าง และลองหาแนวทางการรับมือในแต่ละโจทย์ จะทำให้ได้คำตอบที่หลากหลาย และนั่นอาจทำให้ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางที่ควรจะเป็นได้

ภาพอนาคตของสื่อสาธารณะที่อาจเป็นไปได้

การคาดการณ์สื่อสาธารณะไทยในอนาคตของหัวหน้าโครงการอนาคตสื่อสาธารณะไทย แบ่งออกเป็น 4 เหตุการณ์ ได้แก่

  1. สุข ล้ำ เลิศ : โลกสงบสุขที่แทบไม่มีความขัดแย้ง แตกแยกทางสังคม ระดับความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติไม่ต่างจากเดิม ผู้ผลิตสื่อและผู้บริโภคสื่อเชื่อมมั่น และใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะสุดล้ำอย่างกว้างขวาง และต่างมีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมที่เป็นเลิศ

  2. เก่ง ดี มีภัย : โลกที่ผู้คนล้วนเก่งในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตและบริโภคสื่อ ผู้ผลิตสื่อและผู้บริโภคต่างมีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม แต่สังคมตกอยู่ในสภาวะที่มีภัยจากการที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในหลายรูปแบบในความถี่ที่สูงมาก พร้อมกันในหลายพื้นที่

  3. แตก ต่ำ เสี่ยง : สังคมที่มีการแบ่งแยกและแตกเป็นกลุ่ม ผู้คนเปราะบางต่อความขัดแย้ง ผู้ประกอบการสื่อมีความเป็นมืออาชีพและมีจริยธรรมต่ำ ผู้รับชมสื่อมีขีดความสามารถน้อย สังคมต้องเผชิญกับความเสี่ยงขั้นสูง ภัยธรรมชาติหลายที่เกิดถี่ ในหลายรูปแบบในทุกพื้นที่ สังคมยังไม่ให้ความน่าเชื่อต่อเทคโนโลยีอัจฉริยะเหนือมนุษย์

  4. ลวง ล้ำ ลึก : สังคมไทยเต็มไปด้วยการลวงหลอก สื่อขาดความเป็นมืออาชีพและจริยธรรมต่ำ เน้นตอบสนองทุนและการเมือง ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะสุดล้ำ ผู้รับชมสื่อถูกโน้มน้าวชี้นำได้ง่าย ระดับความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติไม่ต่างจากเดิม แต่มีความแตกแยกทางสังคมที่ลึกมาก

ทุกสื่อต้องกลายเป็นสื่อเดียวกันถึงจะรอด

ปัญหาใหญ่ของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่คนกลุ่มนี้จะได้รับความน่าเชื่อถือ อาชีพนี้ยังเป็นที่ต้องการมากในระบบเศรษฐกิจ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19

อาจดูน่ากังวล แต่ในมุมมองของ สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tellscore Thailand พบว่า การทำให้ทุกสื่อกลายเป็นสื่อเดียวกัน คือหนึ่งในทางรอดของสื่อสาธารณะ

คอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายรายมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สื่อดั้งเดิมอาจไม่มี ในขณะที่สื่อก็มีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ การแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันระหว่างสองภาคส่วนนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่ดีและมีคุณภาพร่วมกัน”

สุวิตา จรัญวงศ์

การยึดโยงกับเนื้อหาที่มีคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อสาธารณะและคอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพราะหากไม่ได้แยกแยะเนื้อหาที่ไม่ดีออกอย่างชัดเจน ความเชื่อมั่นในสื่อโดยรวมจะลดลง และนั่นอาจล้มทางรอดของสื่อทั้งกระดาน

สังคมสูงวัย-เด็กเกิดน้อย โจทย์ท้าทายสื่อสาธารณะ

แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้ามาก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือโครงสร้างประชากรและลักษณะครอบครัวไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญโดย รศ.ภูเบศร์ สมุทรจักร หัวหน้าโครงการศึกษาครอบครัวไทยในอนาคต พ.ศ.2583 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพอนาคตในปี 2583 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระบุว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้าประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงถึง 1 ล้านคน และจาก 8.6 ล้านครัวเรือนในปี 2563 คาดว่าจะเหลือ 2.4 ล้านครัวเรือนในปี 2580 สะท้อนให้เห็นขนาดของครอบครัวที่เล็กลง

สิ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือ สภาพสุขภาพจิตของประชากรไทยในปี 2580 ที่มีแนวโน้มถดถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2523 ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดของไทยก็ลดลงอย่างมาก ซึ่งในอีก 5-10 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด และอาจนำมาซึ่งปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาแล้ว เช่น การแยกตัวของผู้คนในสังคม การใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องการคนดูแลมากขึ้น แต่จำนวนคนในวัยดูแลในระดับครัวเรือนมีน้อยลง ขณะที่ทุนของผู้วัยในหนึ่งเดือนมีไม่ถึงหลักหมื่น หากเราไม่สามารถจัดการดูแลเชิงโครงสร้างให้ดี ทั้งการกระจายอำนาจ หรือทำให้ทุกพื้นที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว อนาคตของสังคมไทยอาจต้องเผชิญกับความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำ และความท้าทายอีกมาก”

รศ.ภูเบศร์ สมุทรจักร

ดังนั้นบทบาทของสื่อสาธารณะที่ รศ.ภูเบศร์ อยากจะฝาก มี 5 เรื่องดังนี้

  1. การทำสื่อสำนึกรักบ้านเกิด อย่าลืมเช็กว่ามีกลไกทางด้านเศรษฐกิจฐานรากรองรับสังคมสูงวัย และเด็กเกิดน้อยได้มากเพียงพอหรือไม่

  2. ทุนทางสังคมที่กำลังเบาบางลง อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมืองและความเป็นปัจเจกชนที่เพิ่มมากขึ้น สื่อจะทำให้ทุนทางสังคมเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร

  3. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้คนสามารถยู่ใกล้บ้าน ใกล้ท้องถิ่นได้

  4. เสริมแรงกระจายอำนาจท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

  5. สื่อต้องช่วยสร้างความเข้าใจและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สื่อสาธารณะต้องเป็นมากกว่า ‘แค่สื่อ’

ทำไมเราถึงเป็นแค่สื่ออย่างเดียว ไม่ขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะถ้าคำนิยามของสื่อสาธารณะคือการทำให้สังคมดีขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไร

อภิรัตน์ หวานชะเอม

สื่อสาธารณะอาจไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่สื่อเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ยกตัวอย่างไทยพีบีเอส ที่มีครบทั้งนักวิชาการ และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา การนำข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้มาพัฒนาแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันของตัวเอง และเปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้ข้อมูลได้

ตรงนี้จะขยายบทบาทของสถานีฯ ให้กว้างขวางกว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตและเผยแพร่เนื้อหาแบบดั้งเดิม ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมเนื้อหาที่ดี มีคุณภาพ สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย

อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นว่า สื่อสาธารณะจะต้องพยายามเป็นทุกอย่างให้กับทุกคน เพราะหลายครั้งที่พยายามเป็นทุกอย่าง ท้ายที่สุดก็อาจถูกมองว่าไม่ได้เป็นสักอย่างให้ใคร จึงอยากทิ้งคำถามให้กับผู้ทำสื่อสาธารณะว่า คุณอยากจะเห็นตัวเองเป็นแบบไหน และจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้

เวทียังมีข้อสรุปร่วมกันว่า ไม่มีคำตอบไหน ที่จะช่วยให้สื่อสาธารณะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ที่สุด แต่การตั้งคำถาม และการช่วยกันออกแบบอนาคต ทั้งผู้ทำหน้าที่สื่อ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เพื่อยึดโยงประชาชน คือหัวใจสำคัญที่จะผลักดันสังคมในเดินหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะเปรียบเหมือนใบบัวที่ลอยเด่นเหนือน้ำ หากปล่อยไว้เนิ่นนาน สุดท้ายอาจเติบโตแผ่ปกคลุมบ่อจนมือมิด เกิดสภาวะวิกฤตของระบบนิเวศ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active