คุมม็อบจะนะเข้าสโมสรตำรวจ ‘พีมูฟ’ แถลงประณามสลายชาวบ้าน ส่องไฟใส่สื่อ

คฝ. เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม “หมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น” ที่ปักหลักชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล นำชาวบ้าน 36 คนไปสโมสรตำรวจ ‘พีมูฟ – กป.อพช.ใต้’ ประณาม จี้ปล่อยตัวชาวบ้านจะนะโดยไม่มีเงื่อนไข

วันนี้ (6 ธ.ค. 2564) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 21.00. น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปยังบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ฝั่งประตู 1 เพื่อขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม หมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมจาก จ.สงขลา โดยหลังขอคืนพื้นที่สำเร็จ ได้เชิญตัวผู้ชุมนุมในพื้นที่ 36 คน แยกเป็นหญิง 30 คน ชาย 6 คน ไปที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ชุมนุมที่ตรวจยึดจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมส่งไว้ที่ สถานีตำรวจนครบาลดุสิต

ขณะเดียวกัน ทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวถึงสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ทนายความได้เข้าติดตามสถานการณ์ที่สถานที่ควบคุมตัวชั่วคราว ภายในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ในทันที พร้อมกับมีรายงานว่า ชัยธวัช ตุลาธน และ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้เดินทางไปที่ บช.ปส. เพื่อรอประสานงานประกันตัวชาวบ้านด้วย

พีมูฟ ประณามรัฐบาล และ คฝ. เหตุสลายชาวบ้านจะนะ

ด้าน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องขอประณามรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) กรณีสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยระบุว่า การเดินทางมาชุมนุมของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเป็นการมาทวงสัญญาในสิ่งที่รัฐบาลลงนามบันทึกข้อตกลงเอาไว้ คือ การศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม กรณีแผนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งผ่านมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม แต่กลับไม่มีความคืบหน้า พร้อมประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลในการขอคืนพื้นที่สลายการชุมนุมดังกล่าว

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

เรื่อง ขอประณามรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) กรณีสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

สืบเนื่องจากวันนี้ (6 ธันวาคม 2564) เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ประกาศปักหลักชุมนุมค้างคืนพร้อมตั้งหมู่บ้าน “ลูกเล จะนะรักษ์ถิ่น” ณ ทางเข้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงคืนสัญญาการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม กรณีแผนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หลังรัฐบาลลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 แต่ยังปรากฏความพยายามในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่ ขณะที่แนวทางการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงยังไม่เกิดขึ้นจริงนั้น สะท้อนภาพความหลอกลวง และเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง และข้าราชการภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจนที่สุด

นอกจากนั้น ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พฤติกรรมของศูนย์อำนายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ยังตั้งอยู่บนฐานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองบางคนเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจไยดีต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินหน้าใช้วาทกรรมการพัฒนาเลื่อนลอยสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยกัน ชาวจะนะกว่า 50 ชีวิตจึงตัดสินใจกลับขึ้นมาที่ทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

  1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ อย่างเช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอันมิชอบ และการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย
  2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.บต.
  3. ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังกล่าว จะต้องออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่าเวลา 21.00 น. กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) กว่า 100 นายได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งเต็มไปด้วยสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ และมีการจับกุมผู้ชุมนุมขึ้นรถคุมขังจำนวน 36 คน ไปที่สโมสรตำรวจ วิภาวดี นอกจากนั้นในระหว่างการปฏิบัติการยังได้มีการส่องไฟฉายเพื่อไม่ให้ผู้สังเกตการณ์รอบนอกสามารถมองเห็นปฏิบัติการอันป่าเถื่อนได้ และยังกีดกันสื่อมวลชนมิให้สามารถเข้าไปบันทึกภาพในพื้นที่

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในนามขบวนการภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ไม่อาจทนต่อภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อพี่น้องชาวจะนะได้ จึงขอประณามการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไร้ซึ่งมนุษยธรรม และขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ดังนี้

  1. รัฐบาลต้องยุติการสลายการชุมนุมและการจับกุมโดยทันที ตลอดจนปล่อยตัวแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข
  2. ให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ แล้วแถลงต่อสาธารณชนโดยเร็วที่สุด
  3. รัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ขปส. ยืนยันว่า สิทธิในการชุมนุมสาธารณะ เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมและอนุสัญญาระดับสากล ในฐานะพลเมืองต้องสามารถกระทำได้โดยปราศจากการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายใดก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในวันนี้ตอกย้ำชัดเจนอีกครั้งว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลแห่งการตระบัดสัตย์ และไร้ซึ่งความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประชาชน ขปส. จึงขอประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องทั้งหมดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และจะเข้าร่วมต่อสู้เคียงข้างพี่น้องจะนะ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของราษฎรต่อไป

เชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
6 ธันวาคม 2564

ขณะที่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ออกแถลงการณ์ “กรณีการสลายการชุมนุมพี่น้องจะนะ จังหวัดสงขลา” เช่นกัน สาระสำคัญในแถลงการณ์ระบุ “ขอเชิญพี่น้องทั้งประเทศร่วมสู้กับพี่น้องจะนะ แม้เพียงส่งกำลังใจก็มีคุณค่ายิ่งในยามที่ประชาชนถูกเหยียบย่ำ กป.อพช.ใต้ ขอเรียนไปยังองค์กรสมาชิกว่า ขอเชิญท่านปฏิบัติการตามที่เห็นควร และขอเรียนไปยังพี่น้องทั้งหลายทั้งในภาคใต้และทั่วประเทศ ขอได้ช่วยกันแสดงออกตามที่ทุกท่านเห็นสมควร”

“ขอให้ผู้มีอำนาจปล่อยตัวพี่น้องโดยไม่มีเงื่อนไขและขอน้อมเตือนไปยังผู้ถืออำนาจทั้งหมดว่า กรณีจะนะเป็นเพียงไฟดอกแรกเท่านั้น”

ก่อนหน้านี้ ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา ได้เดินทางมาที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทวงถามสัญญาจากรัฐบาล ด้วยการนั่งรอคำตอบหน้าทำเนียบฯ ตั้งแต่ช่วงเวลา 16.00 น. – 18.00 น. ของทุกวัน พร้อมกับยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหากรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะด้วย ส่วนชาวบ้านจะนะได้เดินทางมาสมทบในวันนี้ เพื่อปักหลักชุมนุมหมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ดังกล่าว


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active