‘นักรัฐศาสตร์’ วิเคราะห์ปัญหาหลากมิติ ทั้ง โรคระบาด ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มลพิษ ผังเมือง และความเหลื่อมล้ำ คือ โจทย์ปัญหาที่ถูกคาดหวัง รอให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่สะสาง
ในช่วงที่หลายฝ่ายกำลังจับตาแคนดิเดตท้าชิงผู้ว่า กทม. ที่เริ่มปรากฏรายชื่อให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ ทั้งที่เปิดตัวเป็นผู้สมัครอิสระ และจากพรรคการเมือง แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ โจทย์ยากที่อยู่ใน มหานครแห่งนี้มีหลากหลายมิติ ทั้งการแก้ปัญหาโรคระบาด การฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหามลพิษ ผังเมือง และความเหลื่อมล้ำ ที่กำลังรอให้ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่มาสะสาง
หากการเลือกตั้งมีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม 2565 อย่างที่บางฝ่ายคาดการณ์ นั่นหมายถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ว่างเว้นมาถึง 9 ปีเต็ม ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่หลากหลาย ทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ ผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.จะถูกคาดหวังไปถึงคุณสมบัติ ที่ต้อง “เอาอยู่” กับทุกมิติการแก้ปัญหามหานคร
ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองโลกหลังโควิด-19 ที่ท้าทายบทบาทผู้ว่าฯ กทม. มากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การพัฒนาให้ทันสมัยและก้าวกระโดดเท่านั้น แต่ท่ามกลางวิกฤตที่โลกเผชิญกับโรคระบาด และปัญหาที่หมักหมมซับซ้อน จำเป็นที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องตีโจทย์ให้แตกทั้งโจทย์ที่ต้องเผชิญหน้า และโจทย์ที่คาราคาซังค้างคา อย่างเร่งรัด รวดเร็ว และรอบคอบโดย ผศ.ทวิดา แบ่งเป็น 3 ระยะ
โจทย์เผชิญหน้า (ระยะสั้น) : ฟื้นเมือง และระบบสาธารณสุข
ประเทศไทย และทั่วโลก มีเมืองที่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 จึงจำเป็นต้องทำให้ระบบสาธารณสุขในเมือง อยู่กับโรคระบาดให้ได้ ให้ภาวะของสุขอนามัยดีขึ้นได้โดยไม่หยุดชะงัก
ขณะที่สิ่งสำคัญต้องฟื้นฟูไปด้วยคือเศรษฐกิจ ซึ่งมหานคร ถือเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจด้วยส่วนหนึ่ง ในฐานะแหล่งงาน แหล่งธุรกิจ กิจกรรมทางการเมือง และราชการ การศึกษา และยังเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรจำนวนมาก (ทั้งที่มีที่อาศัยจริง และที่อาศัยไม่จริง) จึงจำเป็นต้องฟื้นทั้งหมดนี้พร้อมกัน ผู้บริหารจำเป็นต้องเข้ามาจัดการภาพรวมให้นิ่ง เกาะติดประเด็นเหล่านี้ไปพร้อมกันทั้งการฟื้นเมือง และรักษาสุขภาพผ่านระบบสาธารณสุขที่รับมือกับโรคระบาดได้
โจทย์คาราคาซัง (ระยะกลาง) : ปัญหาหมักหมมของเมือง
ถัดมาคือ ปัญหาคาราคาซัง เช่น น้ำท่วม การจราจร ภาวะอากาศเป็นพิษ ผังเมือง ประชากรแฝง คนถูกละทิ้ง ฯลฯ เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องเริ่มมองหาวิธีการใหม่ๆ ฟังและหาข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อทำให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขภายในรอบ 5 ปีปฏิทิน นับตั้งแต่รับตำแห่ง เพื่อให้หมด 1 วาระ 4 ปี พัฒนาไปสู่โจทย์ระยะยาว แต่โจทย์ระยะกลางไม่ได้มีแค่ปัญหาคาราคาซัง
“เรื่องที่ไม่ค่อยมี ผู้ว่าฯ กทม. ท่านใด กล้าแก้ไข คือ การปรับวิถีการทำงานของ กทม.ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ ที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน พระราชบัญญัติที่ใช้ในการบริหารจัดการก็เก่ามาก และระเบียบต่าง ๆ ก็ไม่เหมาะสม กับ โลกปัจจุบัน”
สิ่งนี้ทำให้องคาพยพ โครงสร้างเรื่องคน อัตรากำลัง การใช้งบประมาณ เป็นปัญหา จำเป็นต้องตีโจทย์ให้แตกแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
โจทย์ (ระยะยาว) : สร้างฐานข้อมูล-ประเมินความเสี่ยงมหานคร
ผศ.ทวิดา ย้ำโจทย์ระยะสุดท้าย โดยมองว่าแผนการจัดการมหานครนั้น ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นจากการทำประชาพิจารณ์ ใน กทม. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการปรับโดยสถาบันการศึกษา และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักมาหลายชุด ในนั้นยังต้องมีอะไรหลายอย่างที่เป็นการพัฒนาระยะยาว ทำให้มหานครเป็นเมืองที่ปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลความเสี่ยงเมือง เอามาจัดการกับเรื่องผังเมือง ปรับกฎหมาย ปรับเทคโนโลยี ปรับบุคลากร การจ้างงาน ทำให้เมืองปลอดภัย ใช้ประโยชน์จากเมืองได้ กลับมารื่นรมย์ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยสรุปแล้ว กรุงเทพมหานครมีทั้ง โจทย์วิกฤต เร่งเร้า และคาราคาซัง ที่ต้องการขยับ รอบคอบรัดกุม ต้องการคนวิเคราะห์ใหม่ และทุบโจทย์อย่างเปิดกว้าง เปิดการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจจะไม่ต้องดำเนินการเหมือนกันในรายละเอียดทุกพื้นที่ ดังนั้นผู้ที่จะกล้ามารับตำแหน่งต้องเผชิญกับโจทย์เหล่านี้ที่ไม่ง่ายเลย…
คุณสมบัติผู้ท้าชิง ผู้ว่าฯ กทม. “เอาอยู่-รู้จริง”
ผศ.ทวิดา ขยายความความหมายของคำว่า “เอาอยู่” ที่หมายถึงว่าคนคนนั้นรู้จริงและรอบด้านในเรื่องที่จะทำ อย่าไปเสียเวลาตั้งหลัก แต่ต้องลงมือทำ เข้าใจระบบกระบวนการงบประมาณ การจับจ่ายใช้สอย
“คนเป็นผู้ว่าฯ ต้องรู้เรื่อง กทม. เป็นอย่างดี เข้ามาพร้อมกับแนวทางและตอบโจทย์ แต่ไม่ได้หมายความตะบี้ตะบันต่อย การสื่อสารที่ดีต้องฟังก่อนพูด ตอนที่หาเสียง และบอกนโยบาย มีทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อให้ทางเลือกนั้นได้ฟังแล้วเห็นผล ระยะเวลา 4 ปี ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง”
ผศ.ทวิดา ทิ้งท้าย ภาพลักษณ์ของผู้ว่าฯ กทม. ควรเป็นคนที่มองแล้วทันสมัย เอาการเอางาน มีลักษณะผสมผสาน คือ ได้เห็นความใหม่ แต่เข้าใจจริง ๆ ว่า กทม. คือ อะไร หากมีปัญหาพร้อมแก้ ต้องใช้เวลา และความเสียสละ พยายามรู้จัก กทม. อย่างที่ กทม. เป็นจริง ๆ