“กรมควบคุมโรค” ระบุเคสแรกในไทย ผู้ป่วยมีอาการน้อย อยู่ในโรงพยาบาล เน้นมาตรการสำคัญฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ยึดหลัก Universal Prevention ป้องกันสูงสุดทุกสายพันธุ์
วันที่ 7 ธ.ค. 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ที่ 3,525 คน และเสียชีวิต 31 คน แต่การยืนยันผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอนในประเทศครั้งแรกวานนี้ (6 ธ.ค. 2564) และในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก็ทำให้ทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังเข้มข้น
กรณีการเดินทางเข้าออกผ่านท่าอากาศยานเจ้าหน้าที่ให้คำยืนยันว่า มีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มงวดภายใต้ระบบสาธารณสุขของไทย แต่สำหรับการเคลื่อนย้ายตามแนวชายแดน ซึ่งพบรายงานการจับกุมการลักลอบเข้าเมืองทำให้หลายฝ่ายต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะพรมแดนที่ติดกับมาเลเซีย หลังมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูลเพิ่มความเข้มข้นทั้งการตรวจตราสอดส่องไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมือง และดำเนินมาตรการคัดกรองเชิงรุกอย่างเข้มข้น ทั้งในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เสี่ยง
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าววานนี้ว่าผลการสอบสวนโรคของชายไทยอายุ 35 ปีสัญชาติอเมริกัน ผู้ติดเชื้อ covid 19 สายพันธุ์โอมิครอนคนแรกในประเทศไทยนั้นเดินทางจากสเปนเข้าไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา และยืนยันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่เมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สัมผัสที่โรงแรม 17 คนและพนักงานในสนามบิน 2 คน หากการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอน มีความรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 2 เท่า ก็หมายความว่าอาจแพร่กระจายไปเร็วกว่าผู้สัมผัสที่มีอยู่ เชื่อว่า มีโอกาสพบเพิ่มขึ้นอีก โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 ของโลกที่พบสายพันธุ์นี้
โควิด-19 ใกล้กลายเป็นโรคประจำถิ่น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า รัฐบาลเลือกปิดช่องโหว่การแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอนจากการเดินทางเข้าประเทศด้วยการกลับไปใช้วิธีการคัดกรองนักท่องเที่ยวด้วยวิธี RT- PCR แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลและเป็นปัจจัยท้าทายคือการคัดกรองการเคลื่อนย้ายประชากร บริเวณแนวชายแดน
อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 พบมาตลอด สิ่งที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการหลังกลายพันธุ์แล้ว คือ
- แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น
- ความรุนแรงมากขึ้น
- ดื้อต่อการรักษา
- ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยยะสําคัญ
“ขณะนี้รูปแบบของโควิด- 19 ใกล้เคียงโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อระบาดไปเยอะแล้วจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงของโรคเหมือนจะลดน้อยลง”
สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาค่อนข้างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้เร็วกว่า 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่แยกยากจากสายพันธุ์อื่น
มาตรการป้องกันที่สำคัญ ต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 95 ล้านโดส เข็มที่ 1 ฉีดแล้วเกิน 75% เข็มที่ 2 เกินกว่า 60% ส่วนบูสเตอร์โดสให้รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งว่าให้ฉีดในช่วงไหน คาดว่าภายในเดือนธันวาคมถึงมกราคม จะเร่งฉีดบูสเตอร์ให้ประชาชนได้มากที่สุด
วัคซีนยังลดเสี่ยงโอมิครอนระบาด
กราฟจำนวนผู้ป่วย covid 19 และจำนวนผู้ได้รับวัคซีน ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงพฤศจิกายน 2564 ที่เก็บโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เห็นแนวโน้ม จำนวนผู้ติดเชื้อ ลดลง หลังจากยอดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นตามแนวเส้นประ
ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าจากการติดตามและรวบรวมข้อมูลจนถึงปัจจุบันบ่งชี้ว่าโอมิครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นแพร่ได้ทั้งในคนทั่วไปและคนที่เคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนมาก่อน แต่ยังรอข้อมูลด้านความรุนแรงในการก่อโรคซึ่งน่าจะเห็นชัดเจนมากขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
สำหรับประเทศไทยแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนโดยตรงก็ตาม แต่การเปิดประเทศเปิดเศรษฐกิจที่เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสที่สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่เข้ามาในประเทศไทย แต่แทนที่จะตื่นตระหนก เราต้องเร่งติดอาวุธเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการระบาดของโอมิครอนหรือแม้แต่สายพันธุ์อื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเต็มที่ โดยคนไทยทุกคนต้องรีบไปฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ร่วมกับการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด
“ถ้าโชคดีที่โอมิครอนก่อโรคไม่รุนแรง เราจะได้ก้าวผ่านมันไปได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด”