จับตาผลตรวจหาโอมิครอนในน้ำเสีย ท่าอากาศยานเชียงใหม่

นักวิจัย ม.นเรศวร ลุยตรวจน้ำเสียปฏิกูลชุมชน ตลาด ท่าอากาศยานนานาชาติ จ.เชียงใหม่ เฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน หลังนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น

แม้ยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ภายในประเทศไทย แต่มาตรการเฝ้าระวังเป็นเครื่องมือสำคัญของการเตือนภัย เพื่อเตรียมรับมือ หากเกิดการระบาดภายในประเทศแล้ว นอกจากตรวจเชิงรุกการตรวจน้ำเสียจากชุมชนและสถานที่เสี่ยงคืออีกทางเลือกหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.)ได้เข้าไปนำร่องตรวจสอบที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ 

กฤษณะติณณ์ เปรี้ยวหวาน นักวิจัยสิ่งแวดล้อม สาขาวิศวกรรม สิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. บอกว่า แม้ผู้ติดเชื้อของจังหวัดเชียงใหม่เริ่มลดลงเหลือไม่ถึงวันละ 100 คน แต่การเข้าสู่ช่วง High Season ทำให้ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งมีเที่ยวบินหลายสิบเที่ยว รวมทั้งสายการบินที่บินตรงมาจากต่างประเทศด้วย นับว่าเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีผู้ติดเชื้อ หลุดรอดออกมาจากการคัดกรอง และขณะนี้ทีมนักวิจัยก็กำลังทำการเก็บตัวอย่างน้ำเสียขึ้นมาตรวจสอบ

นอกจากที่ท่าอากาศยานแล้ว ทีมนักวิจัยสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ยังได้ตระเวนเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่ตลาดหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ เช่นตลาดสดเมืองใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในช่วงที่ผ่านมา ตลาดวโรรส และตลาดประตูเชียงใหม่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะที่ตลาดวโรรสได้ตรวจสอบน้ำเสียครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยการตรวจสอบครั้งที่ 2 ยังพบเชื้อ โควิด-19 อยู่ในสิ่งปฏิกูล ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ยังคงต้องตั้งจุดตรวจเชิงรุกที่บริเวณตลาดวโรรสต่อเนื่องมาอีก แม้จะถอนจุดตรวจไปแล้วหลายจุด 

การตรวจหาเชื้อ covid19 จากน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในชุมชนและพื้นที่เสี่ยง ช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถเฝ้าระวังได้อย่างตรงจุดโดยไม่ต้องปูพรมตรวจทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันต้องจับตามองผลการตรวจน้ำเสียที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ครั้งแรกในวันนี้ เพราะนี่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเฝ้าระวัง หากมีการหลุดรอดของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกรณีสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรการเพื่อรับมืออย่างทันท่วงที 

การตรวจเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียทำได้อย่างไร

ด้าน ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อ โควิด-19 จากน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในชุมชนและพื้นที่เสี่ยง ช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถเฝ้าระวังได้อย่างตรงจุดโดยไม่ต้องปูพรมตรวจทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันต้องจับตาผลการตรวจน้ำเสียที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ครั้งแรกในวันนี้ เพราะนี่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเฝ้าระวัง หากมีการหลุดรอดของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกรณีสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรการเพื่อรับมืออย่างทันท่วงที 

โดยในหนึ่งวันคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ 128 กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ 25-50 ลิตรต่อคนต่อวันโดยผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ 630,000 copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ถึง 30,000,000 copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐฯ ตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ 10 copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข 10 copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด

นักวิจัยได้พัฒนาการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อในน้ำเสีย โดยใช้เทคนิคทางเลือก LAMP Assay ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการตรวจด้วยเทคนิค RT-qPCR ประมาณ 5 เท่า ซึ่งเทคนิค LAMP เคยนำมาใช้ตรวจตัวอย่างทางจมูกและปากมาแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้กับเชื้อในน้ำเสียมาก่อน 

แคลิฟอร์เนียพบเชื้อโอมิครอนในน้ำเสีย 

หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทม์ส รายงานเมื่อเร็วๆนี้ ว่าสำนักสาธารณสุขแคลิฟอร์เนีย ตรวจพบเชื้อโอมิครอน ในตัวอย่างน้ำเสียที่เก็บรวบรวมจากเทศมณฑลเมอร์เซด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งวันหลังแอฟริกาใต้รายงานการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าว

การสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำเสียเพื่อตรวจหาอนุภาคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสฯ ใช้แกะรอยทิศทางการระบาด โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังเฝ้าติดตามน้ำเสียเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสฯ อย่างใกล้ชิด โดยการพบเชื้อโอมิครอนนี้ สะท้อนว่า สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายทั่วโลกอย่างรวดเร็วมาก่อนแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเสีย​ ระบุกับสำนักข่าว VOA ว่าข้อมูลนี้สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าถึง 7 วัน ก่อนผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์จะออกมา และเป็นกรอบเวลาที่ทีมสาธารณสุขท้องถิ่นจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ทัน ทั้งการเตรียมเตียงโรงพยาบาล การสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงรวมถึงการบังคับใช้มาตรการสกัดกั้นการระบาดเพิ่มเติม 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS