“ถ้าหมูไอก็ฉีดสีที่คอ หมูท้องเสียก็ฉีดสีที่ก้น หมูผอมก็ฉีดสีกลางหลัง แม้กระทั่งลูกหมูที่เกิดเพียงไม่กี่วัน ก็จะถูกตัดอวัยวะ ขลิบฟัน ตัดหาง ที่สร้างความเจ็บปวด และทรมานกับหมู ส่งผลให้หมูเจ็บป่วยง่ายนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันโรคต่างๆ”
สุพจน์ สิงห์โตศรี ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุมแห่งประเทศไทย เล่าว่า เมื่อก่อนนี้จะเข้าฟาร์มทุกวัน สิ่งแรกที่เจอคือกลิ่นภายในฟาร์ม และปัญหาสุขภาพตามมา เขาไอเป็นเลือด จึงสงสัยว่า จะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหมูหรือไม่ ทำให้ลองเปลี่ยนมาเลี้ยงหมูแบบฟาร์มหมูหลุม ที่ไม่มีกลิ่น ซึ่งก็ช่วยใลดอาการเจ็บป่วยลง จนขณะนี้หายแล้ว
ทำให้เชื่อว่า การทำฟาร์มหมูหลุมอินทรีย์ จะทำให้มีชีวิตที่ดีกว่า การเลี้ยงหมูในฟาร์มอุตสาหกรรมแบบยืนซอง จึงตัดสินใจปรับปรุงสภาพแวดล้อมของฟาร์มและวิธีการเลี้ยงโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของหมูเป็นหลัก ด้วยการไม่ใช้คอกขนาดเล็กขังแม่หมู การไม่ตัดหางหมู การเลี้ยงบนพื้นธรรมชาติ มีหญ้าหรือฟางให้หมูได้ขบเคี้ยว พื้นที่กว้างพอให้หมูแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันได้ เมื่อหมูมีสุขภาพแข็งแรง จึงลดความจำเป็นที่ต้องให้ยาปฎิชีวนะเพื่อป้องกันโรค ซึ่งต่างจากการเลี้ยงของฟาร์มหมูอุตสาหกรรม
สุพจน์ ระบุว่า ขณะนี้ฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วไปมักเลี้ยงแม่หมูในแบบที่เรียกว่า หมูยืนซอง คือแม่หมูต้องอยู่ในคอกเหล็กขนาดพอดีตัวแทบทั้งชีวิต แม่หมูทำได้เพียงยืนและนอนบนพื้นซีเมนต์เท่านั้น ไม่สามารถแม้แต่จะกลับตัวได้ ส่งผลให้หมูเครียดและเจ็บป่วยได้ง่ายลูกหมูที่เกิดมาเพียงไม่กี่วัน ก็จะโดนตัดอวัยวะ เช่น ตัดหาง ขลิบฟัน และตัดอวัยวะเพื่อตอนลูกหมูตัวผู้ โดยปราศจากการบรรเทาความเจ็บปวด ซี่งวิธีการเหล่านี้ได้สร้างความเจ็บปวด ทรมานกับหมูเป็นอย่างมาก และส่งผลให้มีแนวโน้มหมูที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายในภายหลัง ตามมาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันโรคต่างๆ
“เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่มันป่วย ก็จะถูกรักษาด้วยการให้ยา ถ้าหมูไอก็ฉีดสีที่คอ หมูท้องเสียฉีดสีที่ก้น หมูผอมก็ฉีดสีกลางหลัง ทำเครื่องหมายมาร์คไว้ ทำแบบนี้ทุกวัน และเพื่อป้องกันโรค ทุกสัปดาห์ต้องมีโปรแกรมวัคซีน เราก็คิดว่าถ้าเราไม่ใช้ยาปฎิชีวนะเลย เราจะต้องทำยังไง”
แต่จากข้อมูลพบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุมในปัจจุบัน มีประมาณ 1,000 รายเท่านั้น จากผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศกว่า 2 แสนราย ซึ่ง
จังหวัดนครปฐม ถือเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงหมูมากอันดับต้นๆ ของประเทศ ขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนก็แสดงความกังวลใจกับผลกระทบจากฟาร์มเลี้ยงหมูที่เลี้ยงแบบยืนซองทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
โกมล อ่อนสด เกษตรกรอำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม เล่าว่า หลังได้ไปเรียนรู้การทำเกษตรธรรมชาติ ก็รู้ถึงโทษของยาปฎิชีวนะ ซึ่งผู้เลี้ยงเองก็ได้รับผลกระทบ ไม่นับสิ่งมีชีวิตในดิน ในน้ำ ที่ปนเปื้อนไปกับมูลหมูที่ลงสู่แม่น้ำลำคลอง
กตวรรณ วารีรินสิริ เกษตรกร อำเภอเมืองนครปฐม ระบุว่า การที่สัตว์ได้รับการดูแลด้วยยาเป็นจำนวนมาก ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาจึงจะเห็นผลกระทบเหล่านี้
ประเชิญ คนเทศ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม เสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ต้องสร้างแรงจูงใจและมีระบบสนับสนุนให้ฟาร์มต่างๆได้ปรับตัวเป็นระยะๆ หรือมาตรการอื่นๆที่จะไปช่วย ฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ เพื่อลดสภาวะของการใช้ยาปฎิชีวนะ
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การใช้ยาปฎิชีวนะมากเกินจำเป็นยังทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่าปีละ 700,000 คน ส่วนประเทศไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละกว่า 38,000 คน หรือเสียชีวิต 1 คนทุกๆ 15 นาที ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะมีความซับซ้อนขึ้น เพราะไม่ได้ใช้ในคนเท่านั้น แต่เกษตรกรยังนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในพืชและสัตว์ด้วย
“การบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังมากขึ้น ทำไมเกษตรกรยังมียาปฎิชีวนะใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในปศุสัตว์ ประมง หรือ ในพืช เขาได้มาจากไหน เป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ ถ้าเลี้ยงแบบแออัด ก็มีโอกาสเสี่ยงที่สัตว์จะป่วยง่าย ถ้าสัตว์ป่วยตัวหนึ่ง ก็จะลามไปยังตัวอื่น เขาจึงใช้วิธีการที่เชื่อว่า ให้ป้องกันไว้ก่อน ก็จะลดปัญหาของการติดเชื้อ หรือการแพร่เชื้อ แต่ถ้าเราใช้ระบบสวัสดิภาพที่ดี การดูแลสุขอนามัยที่ดี เลี้ยงอย่างสมเหตุสมผลและพอเหมาะ อันนี้น่าจะเป็นคำตอบของการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในสัตว์ในคนเองก็เหมือนกัน ”
ขณะที่งานวิจัยยังพบว่ายาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ได้ปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้ยาปฎิชีวนะอย่างมหาศาลในฟาร์มสัตว์ ไปสู่มูลที่ปนเปื้อนในดิน และน้ำ ออกสู่สวนและไร่นา แม่น้ำ ลำคลอง และ มหาสมุทร จากนั้นคนจะได้รับเชื้อดื้อยา จากอาหารและน้ำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า ต้นตอของปัญหาคือการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้ยาเพื่อป้องกันโรค เพื่อให้สัตว์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม
ดังนั้นเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เราเรียกร้องคือนโยบายที่จะห้ามใช้ยาปฎิชีวนะเพื่อป้องกันโรค และท้ายที่สุดแล้ว ถ้านโยบายนี้เป็นจริงได้ ปัญหาที่เป็นต้นตอและสาเหตุจริงๆก็คือ สวัสดิภาพสัตว์ ก็จะถูกหยิบยกมาพูดถึงและให้ความสำคัญ
แม้ขณะนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จะเสนอให้รัฐออกกฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคในสัตว์แบบรวมกลุ่ม ซึ่งหลายประเทศเริ่มประกาศใช้แล้ว แต่ขณะนี้ไทยเองการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังมีไม่มากจึงอยากเชิญผู้ที่สนใจร่วมลงนามผลักดันเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยาและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้น
โชคดี ระบุด้วยว่า การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียมากจนเกินความจำเป็นทั้งในคนและสัตว์จะทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวเองจนสามารถสู้กับยาปฏิชีวนะได้หรือที่เรียกว่าดื้อต่อยาและมีการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากรุ่นสู่รุ่นของแบคทีเรีย โดยคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ก็ได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีเป้าหมายสำคัญ คือลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2564 ซึ่งต้องจับตาการดำเนินการนับจากนี้ เพราะนอกจากปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคเองก็หลีกเลี่ยงได้ยาก