เตรียมเดินสายพบ สส. – สว. ‘นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ’ ย้ำ ม.69 อนุญาตใช้อวนตาถี่กลางคืน ถอยหลังเข้าคลอง สร้างผลกระทบมหาศาลต่อทะเลไทย
วันนี้ (4 ม.ค. 68) ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ The Active ว่า ในวันที่ 8 ม.ค. นี้ ทางตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ จะเดินทางเข้าพบ สมาชิกวุฒิสภา เพื่อทำความเข้าใจ และเรียกร้อง สว. ตั้งกรรมาธิการร่วม พิจารณาทบทวนมาตรา 69 ที่อนุญาตให้ใช้อวนล้อมจับตาถี่ในเวลากลางคืน
ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ปรากฏว่ามีข้อท้วงติงจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อย กรณี มาตรา 69 อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ 3 มิลลิเมตรล้อมจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืนได้เป็นครั้งแรกในระบบกฎหมายไทย จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทะเล กระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมากที่มีอาศัยระบบนิเวศทางทะเลในการเลี้ยงดูตัวอ่อนสืบเผ่าพันธุ์ และผลกระทบจะไม่เกิดเฉพาะต่อชาวประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์ทุกประเภทด้วยกันเองเท่านั้นที่ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของฝูงปลาในการประกอบการประมง แต่ลุกลามขยายไปยังกลุ่มนันทนาการทางทะเลการดำน้ำ ธุรกิจการนำเที่ยวตกปลา และถึงที่สุดจะกระทบต่ออาหารในจานของคนไทยทุกคน
“มันเป็นการเอามุ้งไปจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืน โดยปั่นไฟล่อ จับปลาตัวเล็กวัยอ่อนที่ยังไม่ได้เติบโต นี่ไม่ใช่แนวทางที่ส่งผลดีต่อความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่เรื่องความเท่าเทียมการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ใช่เรื่องการทำประมงยั่งยืน มองว่า อย่างไรเสียก็ดี สังคมส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรทางทะเล ต้องเข้าใจตรงกันว่า วันนี้ประมงพื้นบ้าน ไม่ได้ไปทะเลาะ ยื้อแย่งทรัพยากรกับประมงขนาดใหญ่ แต่สำคัญคือจะสร้างกติกาที่ส่งต่อความมั่นคงทางอาหาร กติกาที่สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรของคนทุกกลุ่ม ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต”
ทั้งนี้ หลังการผ่านกฎหมายประมง มาตรา 68 ชั่วข้ามคืน กระแสสังคมที่เพิ่งได้รับทราบได้พยายามส่งเสียง ขอให้ทบทวนกฎหมายมาตรานี้ แต่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายไปก่อนแล้ว หลังจากนี้คงเหลือแต่ขั้นตอนที่กฎหมายต้องผ่านการกลั่นกรองของวุฒิสภา ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 60 วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาเพิ่มได้อีก 30 วัน ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมในบางส่วน ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาร่วมกัน หากผลเป็นประการใด ให้สภาผู้แทนราษฎร ย้อนกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อชี้ขาดอีกครั้ง
ปิยะ ย้ำว่า แม้จะเป็นหนทางแสนยากลำบาก แต่นับเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้เกิดกระบวนการทบทวนมาตรา 69 ร่วมกันใหม่บนหนทางแห่งประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันจับตามองและมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศซึ่งเป็นสมบัติร่วมของคนไทยทุกคน บนหลักการเหตุผลความถูกต้องเป็นธรรมเท่าเทียมสมดุลและยั่งยืน
ดังนั้น หากจะเป็นการยืนยัน ว่าพรรคการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ ยังอยู่ข้างประชาชน ยังมีความจริงใจอยู่ คือการทบทวนในขั้นสุดท้ายนี้ ดังนั้น ทางสมาพันธ์จะสื่อสารต่อสังคม พรรคการเมืองทุกพรรค ที่ยกมือโหวตผ่านหรือแม้แต่พรรคที่งดออกเสียงด้วย และตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ยังจะไปพูดคุยหารือกับ สว. ในวันที่ 8 ม.ค. นี้
“นี่คือโอกาสของฝ่ายการเมือง โอกาสพรรคการเมือง ที่ยังมีโอกาสทบทวนมาตรา 69 ทั้ง สส. สว. ยังเป็นความหวังของทะเลไทย ความหวังความมั่นคงทางอาหาร เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ ที่จะปกป้องผลประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สาธารณะของแผ่นดิน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของปี การออกกฤหมายช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่สังคมไม่ได้จับตา เป็นการลักหลับในเรื่องการยึดทรัพย์สาธารณะ ยึดผลประโยชน์โดยคนกลุ่มน้อยด้วยซ้ำไป จึงต้องติดตามว่าทั้ง สส. สว. จากนี้มีมติอย่างไร สังคมต้องร่วมกันจับตา”
โดยตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. นี้ ทางสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จะเคลื่อนไหวใหญ่ ปักหลักหน้าสภาฯ เพื่อติดตามและสื่อสารไปยังวุฒิสภา สังคม และสส. ที่โหวตผ่าน โดยเฉพาะมาตรา 69 ทบทวนบทบาทตนเอง ว่าจะอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ประชาชนที่แท้จริง จะต้องยึดโยงกับหลักการสำคัญในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลเพื่อคนทั้งประเทศหรือไม่