“องุ่นไชน์มัสแคท” กินแล้วอันตรายจริงหรือไม่

อย. นักชีววิทยา ชี้ พบสารปนเปื้อนจริงแต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ด้านภาคประชาชนเรียกร้อง สร้างระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน มีผลให้ปฏิเสธสินค้า เรียกคืน ทำลายสินค้า

หลังจากเมื่อวันที่ 24 ต.ค.67 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ( Thai-PAN) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคททั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่าองุ่น 95.8% ที่สุ่มตรวจเจอสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน และตรวจพบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด

อ้างอิง

ผลวิเคราะห์สารพิษตกค้าง
ในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการ อย.

ต่อมา นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการ อย.ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตามที่มีรายงานจากไทยแพน แล้วมีการสื่อสารเป็นข่าวออกไปนั้น พบว่าบางข่าวมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสารปนเปื้อนที่พบในตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท

โดยทั้งหมด 24 ตัวอย่างที่ไทยแพนสุ่มตรวจนั้น มี 1 ตัวอย่าง ที่พบสารในกลุ่มวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ สารคลอร์ไพริฟอส เป็นสารที่ถูกแบนห้ามใช้ในประเทศแล้ว ส่วนอีก 23 ตัวอย่างนั้น พบว่ามีสารปนเปื้อนจริง โดยมีทั้งสารที่ถูกกำหนดในรายการเฝ้าระวังและไม่มีในรายการต้องเฝ้าระวังตามมาตรฐานสากล

“ในการสุ่มตรวจดังกล่าวระบุว่าพบสารปนเปื้อนถึง 50 รายการ แต่ข้อเท็จจริง คือ พบสารปนเปื้อนที่อยู่ในรายการต้องเฝ้าระวังในระดับสากล 36 รายการ ส่วนอีก 14 รายการเป็นสารปนเปื้อนที่ระดับสากลไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่ก็จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เกิน 0.01 นอกจากนั้น สารปนเปื้อน 36 รายการที่ตรวจพบนั้น อยู่ในค่าที่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หมายความว่า พบจริงแต่อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย เหมือนอย่างเช่นผลไม้อื่นๆ ที่ผู้ผลิต จะผสมสารต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยากันรา ฉีดพ่นผลไม้ เพื่อยืดอายุให้นานขึ้น แต่เหล่านี้จะมีการกำหนดปริมาณความปลอดภัยไว้”

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่าพบสารปนเปื้อนที่มีการดูดซึมเข้าไปในเนื้อองุ่นไชน์มัสแคท แล้วล้างสารออกยากนั้น ข้อเท็จจริง คือ สารบางชนิดเป็นสารที่ถูกใช้ในระหว่างการปลูก ทำให้ต้นไม้ดูดซึมสารเข้าไปเพื่อเป็นอาหาร แต่ไม่ได้หมายถึงว่าสารนั้นดูดซึมเข้าไปในผลไม้ ดังนั้น การล้างผลไม้ก่อนรับประทานตามวิธีที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทานได้

ส่วนองุ่นไชน์มัสแคทที่มีขายในตลาดสามารถซื้อมาทานได้หรือไม่ นพ.สุรโชคกล่าว ยืนยันว่า สามารถทานได้ เนื่องจากสารปนเปื้อนที่ตรวจพบนั้น ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย พร้อมย้ำว่า อย. มีการสุ่มตรวจผลไม้ในทุกล็อตการนำเข้า ซึ่งบางผลไม้มีสารปนเปื้อน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่สากลกำหนด ก็สามารถทานได้ โดยผู้บริโภคจะต้องล้างให้สะอาดก่อนทาน ส่วนอีก 14 สารที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่ต้องเฝ้าระวังในระดับสากลนั้น ทาง อย.ก็จะรับไปพิจารณาเพื่อหามาตรการเฝ้าระวังต่อไป

“สงสารพ่อค้าแม่ค้าที่ขาย “องุ่นไชน์มัสแคท” ตอนนี้ครับ ที่คงเจ๊งกันระนาว เนื่องจากสังคมไทยถูกทำให้หวาดกลัวจนเกินจริง”

รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นี่คือข้อความบางช่วง ที่ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว หลังทราบผลผลสำรวจองุ่นไชน์มัสแคท

รศ.เจษฎา ยังอธิบายอีกว่า โดยส่วนตัวยังไม่คิดว่าน่าวิตกอะไรมาก เพราะเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ที่เพาะปลูกทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) เป็นเรื่องที่มีได้อยู่แล้ว แต่อย่าให้เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

และเมื่อไปเจาะดูในรายละเอียดของผลการศึกษาก็พบว่าจริงๆ แล้ว แทบทุกตัวอย่างที่ตรวจนั้น มีค่าปริมาณของสารเคมีตกค้าง ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรฐาน CODEX หรือถ้ามีค่าเกิน อันเนื่องจากไม่มีค่า CODEX เลยต้องไปใช้ตามเกณฑ์ค่าต่ำสุดของ อย. ก็พบว่า เกินไปไม่มากนัก (แต่อิงตามกฏหมาย ก็ต้องเรียกว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ จริงๆ มีแค่ 1 เจ้าเท่านั้น ที่มีค่าเกินไปมาก กับ 1 สารเคมี พร้อมอธิบายคร่าวๆ โดยอ้างอิงจากเนื้อหาข่าวทั้งสิ้นใน 11 ประเด็น

โดยสรุปแล้ว ผลการตรวจตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ CODEX / หรือถ้าไม่มีค่า CODEX แล้วไปใช้ค่า ดีฟอลต์ลิมิต แทน ก็ยังพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน หรือถ้าเกิน ก็เกินไปไม่มาก  (แต่ตามกฏหมาย ก็ยังถือว่า “ตกมาตรฐาน” ) / มีเพียงแค่ตัวอย่างเดียว ที่เกินค่า ดีฟอลต์ลิมิต นี้ไปมาก 

พร้อมความเห็นส่งท้ายว่า องุ่น ที่เพาะปลูกโดยวิธีปรกติ (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) นั้นเป็นผลไม้ที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช และทำให้มีสิทธิจะมีสารเคมีตกค้างได้ จึงควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค โดยการล้างน้ำไหลผ่านมากๆ หรือนำไปแช่ในสารละลายเบกกิ้งโซดา ก่อนจะล้างออกอีกครั้งเพื่อกำจัดสารเคมีตกค้างออกให้มากที่สุด หรือถ้ายังกังวลอยู่ ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคไป

ไทยแพน ชี้ ถึงเวลายกเครื่องระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหาร

ปรกชล อู๋ทรัพย์  ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai-PAN กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัย เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยร่วมกันสร้าง ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน (Rapid Alert System) เพราะสามารถแสดงข้อมูลการพบอันตรายในอาหาร มาตรการที่ใช้ในการจัดการ และติดตามการดำเนินการได้อย่างทันท่วงที โดยข้อมูลในระบบจะแสดงให้เห็นตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ประเทศต้นทาง ผู้นำเข้า ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่ายรวมถึงผู้บริโภค โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น การจัดการที่หน้าด่าน การปฏิเสธสินค้า การเรียกคืน การทำลายสินค้า เป็นต้น

“ผลการตรวจองุ่นครั้งนี้เราพบสารนอกบัญชีวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยภายใต้กฎหมายไทย 22 ชนิด จึงจำเป็นมากๆที่ต้องคำนึงถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นๆที่ประเทศต้นทางเขาใช้และเซ็ตระบบ Rapid Alert System ให้มีขอบเขตการวิเคราะห์ได้ครอบคลุมและระบบนี้ยังสามารถเปิดรับข้อมูลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างโดยวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการได้จากทุกภาคส่วน”

ปรกชล อู๋ทรัพย์

พร้อมย้ำว่า ระบบ Rapid Alert System จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เนื่องจากเป็นการรวมข้อมูลและการจัดการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ ช่องว่างของการกำกับระหว่างหน่วยงานจะหายไป และสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบที่ชัดเจนของผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริโภคก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ และสามารถจัดการตนเองได้หากซื้อสินค้าล็อตที่มีปัญหามา ในขณะเดียวกัน ระบบนี้ยัง Alert กลับไปที่ประเทศต้นทาง ให้เกิดการจัดการปัญหา เช่นกัน

ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้มีการใช้ระบบเตือนภัยสินค้าอาหาร (RASFF- Rapid Alert For Food and Feed) ทำให้สามารถปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือหากสินค้ากระจายไปในท้องตลาดแล้ว ภายใน 24 ชั่วโมง ข้อมูลจะ Alert ไปยังผู้เกี่ยวข้องและสามารถจัดการกับสินค้าล็อตนั้นได้ทันที ซึ่งเป็นระบบที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเข้มแข็ง  

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า ในระบบเตือนภัยสินค้าอาหาร (RASFF) มีจุดที่ดีมากคือการ Trace Back คือเราเป็นประเทศรับสินค้าเราจะกำหนดเงื่อนไขตามที่เราจะได้รับประโยชน์ เราจึงต้องรู้คนนำเข้าคือใคร ระบุตัวตนได้ไปจนถึงต้นกำเนิดสินค้า อย่างจีนสามารถระบุถึงสวนในไทยได้เลย ว่ามาจากสวนไหน ให้รหัสระบบ Trace Back เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Rapid Alert System เป็นจุดของระบบที่ดีมากๆ เพราะแจ้งเตือนกลับมาที่จุดผลิตเลยว่ามีปัญหา ประโยชน์ตรงนี้ถือว่าได้กันทั้งสองฝ่าย ถ้าเราดีเท่ากับสินค้าเราดี ประเทศอื่นๆก็ให้การยอมรับคุณภาพสินค้าของเรา ขณะนี้ถ้าสินค้ามีปัญหาไม่ได้นำเข้าประชาชนในประเทศนั้นก็ได้ประโยชน์ มันเป็นระบบที่ช่วยดูแลคนในประเทศ

ขณะที่ประเทศที่พัฒนาระบบนี้เกิดขึ้นแล้ว สามารถรู้ว่าประเทศต้นทางใช้สารเคมีอะไรบ้าง ตรวจเป็นระยะ สม่ำเสมอ เพราะการตรวจแบบไม่รู้จะตรวจแบบหว่านแห ใช้งบประมาณสูงไม่ค่อยเกิดประโยชน์กับประชาชน

“นี่เป็นสถานการณ์ที่คล้ายของประเทศไทยตอนนี้ ประเทศญี่ปุ่นพัฒนากฎเกณฑ์การควบคุมคุณภาพอาหารนำเข้าแล้ว แล้วเขาไม่รับภาระมาตรวจมาก เขาใช้วิธีการออกไปให้การรับรอง คนของเขา หน่วยงานของเขาก็มีความเชี่ยวชาญได้ทุกขั้นตอน ประชาชนของเขาได้รับการดูแลอย่างดี ขณะที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลไม่คิดแบบที่จะเอามาเป็นภาระทั้งหมด นี่คือระบบที่ได้รับการออกแบบ การตรวจที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการ ทำให้เราเห็นสถานการณ์เหมือนการเตือนภัยแต่การพัฒนาระบบเตือนภัยสินค้าอาหาร Rapid Alert System ต้องคิดเชิงออกแบบร่วมกันของหลายหน่วยงาน”

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร

ภก.ภานุโชติ ทองยัง กรรมการสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพกล่าวว่า จากผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคทและพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐานจำนวนมากอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงพลังอำนาจในการต่อรองที่ทุกคนมีและร่วมกันพัฒนาระบบความปลอดภัยของอาหาร ให้มากยิ่งขึ้น 

“ถ้ามองในมุมของประชาชนผมคิดว่าวันนี้ประชาชนจะต้องเปลี่ยนวิธีการซื้อแล้ว การซื้อสินค้าจากแหล่งใหญ่ๆ นำเข้าจากต่างประเทศต้องมีใบการันตี ใบรับรอง ผมคิดว่าถ้าเราช่วยกันดูเรื่องนี้จะกดดันทำให้ผู้จัดจำหน่ายต้องดูแล รับผิดชอบเรื่องนี้ เขาซื้อของเข้ามาขายปลอดภัยไหม ขณะเดียวกันเราต้องเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ สารเคมีที่เจอครั้งนี้เราพบสารเคมีที่ไม่มีในระบบของไทยจำนวนมากเรายังไม่มีมาตรฐานตรงนี้ เราต้องปรับปรุง และจะเห็นว่าการตรวจครั้งนี้ไม่ได้ริเริ่มจากภาครัฐแต่เป็นผู้บริโภคที่หวาดกลัวจึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะให้ผู้บริโภค เป็นแขนขาในการทำงานร่วมกันที่สำคัญอยากให้ภาครัฐทำงานเข้มงวด เชิงรุกมากกว่านี้ ตรวจสอบให้ละเอียด“

ภก.ภานุโชติ ทองยัง

พร้อมกล่าวเสริมว่า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีอำนาจการต่อรองค่อนข้างมาก ในการพูดคุยกับผู้นำเข้า ต้องผลักดันให้ผู้นำเข้ามีการันตีสินค้า มีผลตรวจวิเคราะห์มาแสดง ภาครัฐก็จำเป็นต้องตรวจด้วย รวมถึงผู้บริโภคที่ได้ซื้อไปแล้วก็ควรได้รับการเยียวยา ซึ่งประชาชนสามารถนำหลักฐานมาร้องเรียนได้ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค และจากเรื่องนี้จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของ พ.ร.บ.อาหารที่ สภาองค์กรของผู้บริโภคผลักดันอยู่ อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุน เพราะเป็นกฎหมายที่ช่วยให้เราประชาชนทุกคนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยขึ้น

ทั้งนี้องุ่นไซมัสแคทที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ Thai-PAN สุ่มทดสอบครั้งนี้จำนวนหนึ่งระบุที่มาชัดเจนว่านำเข้าจากประเทศจีน ในอีกด้านหนึ่งประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการตรวจสอบการนำเข้าอาหารจากประเทศต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งด้านการกำหนดหลักเกณฑ์ การใช้เทคโนโลยีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าให้ตรวจสอบได้จำนวนมาก แม่นยำ ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อสุขภาพความปลอดภัยของคนไทย อย.และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันยกระดับความปลอดภัยการนำเข้าสินค้าและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

พร้อมชวนผู้บริโภคสามารถแสดงพลัง ด้วยการร่วมแสดงความคิดเห็น “เห็นด้วยหรือไม่? ซูเปอร์มาเก็ต ตลาดค้าส่ง ต้องแสดงผลการตรวจสารพิษตกค้างและรับรองความปลอดภัย ณ จุดจำหน่าย องุ่นไชน์มัสแคท” ได้ที่ https://ffcthailand.org/campaign/21

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active