ห่วงประชากร 30% ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนเข็มแรก

พบโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอนระบาดเร็วในยุโรป ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มต้นๆของไทย แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกในประชากร 100% ก่อนระบาดในประเทศ​ 

ผ่านไป 1 เดือนแล้วหลังองค์การอนามัยโลกได้รับรายงานการพบเชื้อ covid-19 สายพันธุ์ โอมิครอน จากประเทศแอฟริกาใต้​ ตอนนี้เริ่มมีความชัดเจนของข้อมูลสายพันธุ์ใหม่มากขึ้น​ แม้จะสามารถแพร่ได้เร็วกว่าทุกสายพันธุ์​ แต่การก่อโรคก็มีความรุนแรงลดน้อยลง การฉีดวัคซีนเข็มเสริมยังเป็นหนึ่งในแนวทางป้องกันและลดอาการป่วยหนัก

สถานการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอนในประเทศแถบยุโรป ค่อนข้างหนักและแพร่ไปอย่างรวดเร็ว โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มต้นๆที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หลังจากที่มีการเปิดประเทศไปแล้ว​ ศาสตราจารย์​ นายแพทย์​ ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ​ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า​ แม้ยังไม่พบการระบาดภายในประเทศตอนนี้แต่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการระบาดภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงที่ยังไม่เกิดการระบาดภายในประเทศจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วยการฉีดวัคซีน ขณะนี้ยังมีกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียวถึง 30% หากติดเชื้อจะมีอาการหนักกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแม้เพียงเข็มเดียวหรือ 2 เข็ม​ แต่มากไปกว่าการฉีดวัคซีน​ การป้องกันที่ดีที่สุดยังเป็นมาตรการป้องกันส่วนบุคคลคือใส่หน้ากากเว้นระยะห่าง​ และล้างมือ​

แม้องค์การอนามัยโลกจะยังคงเตือนหลายประเทศว่า อย่าชะล่าใจกับการก่อโรคที่ลดลงของสายพันธุ์นี้ แต่ข้อเท็จจริง ที่เป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการชุดแรกเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน​ ที่วิเคราะห์จากประเทศต้นทางคือแอฟริกาใต้บ่งชี้ว่าอัตราการตายต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ยังไม่ครบถ้วนเพราะยังต้องติดตามข้อมูลต่อไปอีกระยะ

“แม้โอมิครอนก่อโรคไม่รุนแรง แต่การแพร่เชื้อได้เร็วก็อาจไปกดดันระบบสาธารณสุขที่ต้องรองรับ หรืออาจมองแนวทางการรักษาตัวที่บ้าน หรือการกักตัวในชุมชน พยุงระบบสาธารณสุข” 

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคอุบัติใหม่​ ในช่วงแรกจะมีความรุนแรงเพราะมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน​ แต่หลังจากที่โรคอุบัติใหม่ระบาดไประยะหนึ่ง​ แม้ไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์​ ก็จะกลายพันธุ์เพื่อให้อยู่รอดต่อในร่างกายของมนุษย์ ความรุนแรงในการก่อโรคก็จะลดลง​ ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS