เวทีเสวนาหาทางออกหัวลำโพง เปิดผลวิจัยนักวิชาการ 5 สถาบัน เน้นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ ‘ประภัสร์’ ยืนยันต้องเดินรถเข้าหัวลำโพง รฟท.ไม่มองปัญหาการใช้ชีวิตประชาชน ขอความชัดเจนรถไฟทางไกล
วันนี้ (19 ธันวาคม 2564) ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เวทีเสวนาหัวลำโพง ไปทางไหนดี ? ภายใต้เทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลง (Citizens make change) ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยระบุว่า หลังได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ “อนาคตสถานีหัวลำโพงประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนามาจากหลายภาคส่วนทั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคม รฟท. นักวิชาการ และภาคประชาสังคม
ประภัสร์ กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนั้น ไม่ใช่เวที ‘ประชาพิจารณ์’ เป็นเพียงการ ‘รับฟังความคิดเห็น’ เท่านั้น และไม่มีข้อสรุปใดที่สำคัญเกิดขึ้นจากเวทีในครั้งนั้นเลย ทั้งเรื่องการจัดขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่การปรับสีผังเมืองกว่า 121 ไร่ของสถานีหัวลำโพงว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร โดยส่วนตัวนั้นมีข้อสังเกตในเรื่องของ เส้นทางเดินรถของรถไฟสายสีแดง และจุดจอดรถของขบวนรถไฟทางไกลในทุกภูมิภาคว่าจะอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างไร
ประเด็นแรก คือ เส้นทางของรถไฟสายสีแดง ที่มีเส้นทางผ่านสถานีหัวลำโพงนั้น การจะปิดสถานีหัวลำโพงได้ รถไฟสายสีแดงต้องสามารถเปิดเดินรถได้เสียก่อน การปิดก่อนโดยที่ยังไม่แล้วเสร็จสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และหน่วยงานภาครัฐกล่าวว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ติดปัญหาอุปสรรคมากมาย ติดปัญหาเรื่องการเวนคืน ประภัสร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ เพราะปัญหาเกิดจากการไม่ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดิน หรือประชาชนที่ต้องได้รับค่าทดแทนอย่างเหมาะสมต่างหาก
“หัวลำโพงอย่างไรก็ต้องมีอยู่ เพราะเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกของระบบรางในประเทศไทย รถไฟสายไกลต้องวิ่งเข้าหัวลำโพง จะหยุดการเดินรถเพื่อเอาที่ดินไปให้ใครก็ไม่รู้”
ประภัสร์ จงสงวน
การหยุดเดินรถไฟทางไกล จะยิ่งสร้างผลกระทบให้กับประชาชนในการเดินทางเป็นอย่างมาก รฟท. จะเปลี่ยนจุดจอดรถไฟทางไกล โดยสายใต้ จอดที่สถานีตลิ่งชัน สายเหนือจะจอดสถานีรังสิต และสายตะวันออกจะจอดสถานีมักกะสัน แต่บริเวณสถานีดังกล่าวไม่มีความพร้อมรองรับรถไฟสายไกล เพราะการจอดต้องมีพื้นที่บำรุงรักษา ตรวจสภาพ และทำความสะอาดขบวนรถให้มีความพร้อมต่อการใช้งานในรอบถัดไป แต่พื้นที่จอดที่กล่าวมาไม่มีความพร้อม
และจุดจอด หากไม่มีพื้นที่บำรุงรักษา และตรวจสภาพ จะทำให้กระทบต่อเวลาการเดินรถของประชาชน ยิ่งมาเปลี่ยนแปลงในช่วงของเทศกาลปีใหม่ แล้วประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก จะยิ่งสร้างความโกลหลครั้งใหญ่ในบริเวณดังกล่าวที่มีปัญหาเรื่องการคมนาคมอยู่แล้ว เพราะเป็นจุดจอดของรถประเภทอื่นอีกด้วย เรื่องที่กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนแบบนี้ รฟท. ไม่เคยคิดถึงสภาพของความเป็นจริงในเรื่องนี้เลย
ประภัสร์ กล่าวว่า ตอนนี้มีคำสั่งจาก รฟท. สั่งห้ามการขายตั๋วสำหรับเดินทางเข้าสู่หัวลำโพง สร้างความสับสนต่อประชาชนอย่างมาก แล้วเวทีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 บอกว่าจะเปิดให้ขบวนรถไฟชานเมือง 22 ขบวนเข้าสู่หัวลำโพงได้ สรุปแล้วเป็นอย่างไร แต่ที่ลำบากกว่าคือขบวนรถไฟทางไกล ที่มีความลำบากมากกว่า ประชาชนที่เดินทางเข้ามามีสัมภาระ มีค่าใช้จ่าย จุดที่เขาเคยลงได้ ตอนนี้ลงไม่ได้แล้ว ต้องมีการต่อรถเพิ่มขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ในวันพรุ่งนี้ (20 ธ.ค. 2564) รฟท. จะมีการประชุมหาข้อตกลงเรื่องนี้ ตนเรียกร้องให้สื่อมวลชน ตัวแทนสหภาพ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าไปร่วมประชุมด้วย และแสดงความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่ควรเป็นการประชุมแบบลับๆ แบบที่เป็นอยู่มาตลอด
สำหรับเวทีเสวนาภายใต้เทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 2 เวทีสำคัญเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการ และความเห็นเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพง คือ เวทีเปิดผลการศึกษาของนักวิชาการ 5 สถาบัน ที่ตอบโจทย์หัวลำโพง จะไปทางไหนดี ? และ เวทีเสวนาการพัฒนาเชิงอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน สามมารถรับชมได้ทาง TheActive จนถึงเวลา 18.00 น.