‘สาธิต มธ.’ เปิดตัว “Empathy Center” ให้คำปรึกษาผู้ปกครอง “ดีลเด็กรุ่นใหม่”

‘ประธานบริหารโรงเรียน’ ชี้ “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” มีส่วนสร้างปมการศึกษา เชื่อ “พื้นที่รับฟัง – คลายใจพ่อแม่” หนุนพัฒนาการเด็ก เพิ่มโอกาสเปลี่ยนการศึกษาไทย

วานนี้ (14 ม.ค. 2564) รศ.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศเปิดตัว Empathy Center แหล่งเรียนรู้และให้คำปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครอง ระบุ ในฐานะโรงเรียน ไม่เพียงทำงานกับเด็ก ๆ แต่ต้องการทำงานกับผู้ปกครองด้วยความหวังว่า ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจลูก จะช่วยเสริมบทบาทของโรงเรียนในการสนับสนุนนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น

รศ.อนุชาติ กล่าวว่า Empathy Center คือพื้นที่ซึ่งเปิดสำหรับรับฟังปัญหา ให้คำปรึกษา แนะนำเครื่องมือ ทักษะหรือวิธีคิดให้กับผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจลูกหลานวัยรุ่นที่ปัจจุบันพบว่า เกิดความไม่เข้าใจและปฏิบัติต่อกันในลักษณะของการต่อต้านมากขึ้น จึงต้องการเปิดพื้นที่เสมือนคลินิกพ่อแม่ในการเข้าพบนักกระบวนกรจิตบำบัดและการพัฒนาตนเองจากภายใน แบบตัวต่อตัว

รศ.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า Empathy Center มีที่มาจากความตั้งใจในการก่อตั้งโรงเรียนที่มุ่งหวังให้เกิดระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วยการมีส่วนร่วมของสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสุขและให้ความหมายต่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยพบว่าการแสดงออกของผู้ปกครองเป็นโจทย์สำคัญอย่างมาก เพราะสามารถเป็นทั้งแรงเสริม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

“โรงเรียนในระบบตอนนี้ มีความไม่เข้าอกเข้าใจกันระหว่างโรงเรียนกับตัวพ่อแม่ผู้ปกครองในหลากหลายแง่มุม เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่มีอันจะกิน พาลูกเข้าโรงเรียนแพง ๆ ก็มีความคาดหวัง กดดันโรงเรียนว่าต้องเป็นสถานที่ที่เด็กเดินผ่านประตูเข้าไปปุ๊บจะต้องกลายเป็นเด็กดี ซึ่งจริง ๆ แล้วโรงเรียนเป็นเพียงเศษ 1 ส่วน 3 ของชีวิตเด็ก ส่วนในครอบครัวยากจน พ่อแม่บางคนก็ทิ้งลูกให้โรงเรียนจัดการเลย โดยไม่ได้สนใจมองเรื่องพัฒนาการเด็กอย่างเป็นเป้าหมายเดียวกัน”

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.อนุชาติ กล่าวต่อไปว่า ความคาดหวังและการแสดงออกของพ่อแม่ผู้ปกครอง เปรียบเสมือนตัวแทนภาพจำลองของสังคมที่มีความคาดหวังต่อระบบการศึกษา โดยระบุว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และวางเป้าหมาย ก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่ฉุดรั้งพัฒนาการเรียนรู้ของบุตรหลาน และอาจเป็นแรงกดดันให้โรงเรียน ส่งต่อความกดดันไปยังคุณครู และเด็กนักเรียน ตามความคาดหวังที่แตกต่างกันไป

“อันนี้เป็นภาพใหญ่ ทีนี้ในระดับที่ลงรายละเอียดไปอีกชั้นหนึ่ง ยกตัวอย่างสาธิตธรรมศาสตร์ เราพบว่าเด็กวัยมัธยมมีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายและจิตใจสูงมาก พ่อแม่ไม่น้อยมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจลูก อาจรู้สึกว่าทำไมเดี๋ยวนี้ลูกไม่ค่อยคุยกับตัวเองเลย คุยกันคนละภาษา และมีพ่อแม่ไม่น้อยเอาความคาดหวังของตัวเองไปใส่เป็นความคาดหวังต่อลูก โดยลืมที่จะรับฟัง ทำความเข้าใจกับเขาแบบให้พื้นที่ปลอดภัยในการเติบโต”

รศ.อนุชาติ เพิ่มเติมว่า ปัญหาความเครียด และอีกหลาย ๆ ปัญหาของเด็กไม่น้อยมีที่มาจากบ้าน และเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผล โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญ ธนัญธร เปรมใจชื่น ผู้อํานวยการสถาบัน Seven Presents ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการจิตบำบัดและการพัฒนาตนเองจากภายใน มาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่ Empathy Center โดยมีคอนเซปต์ว่า เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น มองเขาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

“อาจารย์ธนัญธร เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการก่อการครู ทำกระบวนการพัฒนาครูร่วมกับเรา เรามีข้อค้นพบที่สำคัญอันหนึ่งว่า การสร้างภูมิคุ้มกันภายใน การปรับมุมมอง ปรับความเข้าใจของคุณครู มีคุณค่าและมีความหมายมากต่อการเปลี่ยนแปลง เราพบว่าการทำงานในก่อการครู ถ้าครูคนหนึ่งใจเปลี่ยน ใจเชื่อมโยงกับระบบคุณค่าที่ตัวเองทำในภาระหน้าที่อย่างจริงจัง เขาจะมีแรงไปต่อกับการเผชิญปัญหาอุปสรรคที่มีมากมาย เราเชื่อว่าพ่อแม่ก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้ามีความเข้าอกเข้าใจลูกผ่านกระบวนการเรียนรู้ว่าจะสื่อสารกับลูกอย่างไรดี คุยกับลูกเรื่องเพศอย่างไรดี หรือการปรับจูนความคาดหวังระหว่างลูกกับพ่อแม่ มันมีเครื่องมือ ทักษะ หรือวิธีคิดในการดีลกับเด็กรุ่นใหม่เยอะมาก อันนี้เป็นหน้าที่ของ Empathy Center”

ธนัญธร เปรมใจชื่น ผู้อํานวยการสถาบัน Seven Presents  (ภาพจากโครงการก่อการครู)

ด้าน ธนัญธร เปรมใจชื่น ผู้อํานวยการสถาบัน Seven Presents ในฐานะผู้อำนวยการเรียนรู้ Empathy Center กล่าวว่า การดำเนินงานจะทำหน้าที่ช่วยคลายใจ คลายความกังวลให้กับผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้ เติบโตทางความคิด บนความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ความกังวลเรื่องการเงิน กังวลเรื่องลูก การจัดการตนเอง ฯลฯ โดยมีระบบจองคิวให้เข้ามาพูดคุยแบบตัวต่อตัวที่โรงเรียนทุกวัน ยกเว้นบางคนที่ไม่สะดวกมาเจอจริง ๆ จะหาช่องทางพูดคุยที่สะดวกเหมาะสมให้

“ระบบนิเวศ หรือ สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้  ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นไม้ใบหญ้า แต่เป็นบริบททั้งหมดที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก และผู้ปกครองเป็นระบบนิเวศที่สำคัญเลย ต่อให้เรามีระบบการศึกษาที่ดี มีครูที่ดี ไม่ได้แปลว่าจะสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้ง่าย ๆ ยกตัวอย่าง พ่อแม่บางคนได้รับผลกระทบทางธุรกิจมาไม่มีที่ระบายออก ก็ไปลงที่ลูก ความสัมพันธ์สามีภรรยาไม่ดี ก็ไปลงที่ลูก บางคนกังวลมีความวิตกจริตเป็นพื้นฐาน เราจัดตั้งพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาดูแลพ่อแม่ในทุก ๆ ปัญหา”

ทั้งนี้ Empathy Center ออกแบบระบบในระยะเริ่มต้น คือการให้คำปรึกษาผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสำรวจว่าได้รับการตอบรับอย่างไร โดยมีแผนงานระยะต่อไปคือการจัดตั้ง โรงเรียนพ่อแม่ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะโรงเรียนคู่ขนาน ที่มีหลักสูตรการเรียนรู้ต่อเนื่อง หลายมิติ ทั้งด้านจิตใจ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ทักษะการเงินการลงทุน ฯลฯ เปิดให้ผู้ปกครองนักเรียนทั่วไปเข้ามาปรึกษา และมีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม