คนพิการกว่าร้อยละ 55.6 ไม่ได้รับการจดทะเบียนคนพิการ สาเหตุเพราะการพิจารณาความพิการมีปัญหา ระหว่างนิยามทางการแพทย์และนิยามมิติทางสังคม แม้มีคู่มือในทางปฏิบัติ แต่ทำไม่ได้จริง
ขวัญพลอย ชีช้าง เจ้าหน้าที่นโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุว่า มีคนพิการ กว่า 140,000 คน ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจนที่ยังเข้าไม่ถึงสวัดิการของรัฐ มีคนพิการมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรคนพิการทั้งหมดที่เข้าไม่ถึงการจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิประโยชน์สิ่งอํานวยความสะดวกสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ เช่น บริการทางการแพทย์ การศึกษา การส่งเสริมอาชีพ การคุ้มครองสิทธิคนพิการทางสังคมและสวัสดิการ การจัดให้มีสิ่งอํานวยความสะดวก รวมทั้งเบี้ยยังชีพคนพิการ สาเหตุเนื่องจากไม่ต้องการจดทะเบียน รวมถึงไม่คิดว่าตนเองพิการ หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่จดทะเบียนได้ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพิจารณาหลักเกณฑ์ความพิการระหว่างนิยามทางการแพทย์และนิยามมิติทางสังคม โดยเฉพาะความพิการในเด็กซึ่งเห็นได้ไม่ชัดเจนทางการแพทย์ ขณะที่ผู้ปกครองยังมีความเชื่อว่าไม่อยากตีตราลูกและอาจจะหายได้ในอนาคต
“คู่มือการประเมินความพิการมิติทางสังคม อยู่ในคู่มือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการใช้ตกลงกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในสังกัด พาร์ทเนอร์ แต่เวลาปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซนต์ ยูนิเซฟฯและกรมส่งเสริมและพัฒนาฯ เห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องหลักที่ต้องปรับปรุงผลักดันรวดเร็ว”
ผลสำรวจจากยูนิเซฟ ประเทศไทย เมื่อปี 2560 พบว่า ประชากรคนพิการทั่วประเทศมี 3.7 ล้านคน มีประชากรพิการน้อยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 44.4) ที่ได้จดทะเบียนคนพิการและได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ ร้อยละ 43.8 มี ประชากรพิการเพียงร้อยละ 0.6 ที่จดทะเบียนแต่ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการ ซึ่งอาจจะอยู่ระหว่างดําเนินการหรือยังไม่ได้ดําเนินการยื่นขอรับเบี้ยยังชีพคนพิการ
สําหรับประชากรพิการอีกร้อยละ 55.6 ยังไม่ได้จดทะเบียนคนพิการ ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการจดทะเบียน (รวม ไม่คิดว่าตนเองพิการ) หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่จดทะเบียนได้มีค่อนข้างมากถึงร้อยละ 48.0 และเหตุผลอื่นเพียงร้อยละ 7.6 เช่น ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนพิการ ไม่มีคนพาไป และเดินทางไม่สะดวก
และมีประชากรพิการร้อยละ 21.2 มีความจําเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ หรือสวัสดิการจากรัฐแต่ยังไม่ได้รับ โดยความช่วยเหลือที่ต้องการมากที่สุด 5 ลําดับ คือ การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ,การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ, การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ, การปรับสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และ การให้คําแนะนําปรึกษา