สูบได้ในพื้นที่ได้รับอนุญาต และไม่ห้ามสกัดสาร THC เกิน 0.2% แต่ต้องจดแจ้ง-ขอใบอนุญาต “เลขาธิการอย.” เชื่อกัญชาดันมูลค่าเศรษฐกิจปี 2569 พุ่ง 15,000 ล้านบาท เร่งประชาพิจารณ์ร่างกฏหมายเดือนหน้า
24 ม.ค. 2565 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดเผยว่า เราอยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กันชง พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญคือห้ามใช้แบบนันทนาการ (กิจกรรมที่ทำในยามว่างเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด) ยกเว้นแต่ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อน เป็นลักษณะ Sandbox และควบคุมไม่ให้มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
เลขาธิการ อย. อธิบายว่ากฎหมายนี้จะควบคุม 3 ส่วน 1. ต้นทาง คือการปลูก หากปลูกแบบครัวเรือน หรือแพทย์แผนไทย ให้ใช้วิธีการจดแจ้งได้ภายในจังหวัดนั้นๆ แต่หากปลูกเพื่อขาย หรือในเชิงอุตสาหกรรมต้องขอใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี
2. กลางทาง คือการแปรรูปสกัดสาร THC,CBD ต้องขอใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 3 ปีเช่นกัน และ 3.ปลายทาง คือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกัญชา เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้นๆ
“หากปลูกกัญชาในครัวเรือน แต่ไม่ได้จดแจ้งก็จะมีความผิด โทษปรับ 20,000 บาท แต่หากปลูกเพื่อการค้า จะมีโทษจำคุก 3 ปีและปรับไม่เกิน 300,000 บาท”
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม กล่าว
โดยปัจจุบันในระหว่างที่ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังไม่บังคับใช้ อย.ก็ได้อนุญาตผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสมอยู่ เป็นเครื่องสำอาง 456 รายการ ยาสมุนไพร 31 รายการ และอาหาร 14 รายการ
เลขาธิการ อย.บอกอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะเร่งดำเนินการประชาพิจารณ์ในเดือนหน้า ก่อนเข้าสู่การพิจารณาระดับกระทรวงสาธารณสุขและส่งต่อไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ซึ่งเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้ จะเน้นควบคุมป้องกัน และไม่ให้มีการนำไปใช้ทางที่ผิด ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ประชาชนสามารถปลูกเพื่อนำไปดูแลรักษาตัวเองและครอบครัวอย่างทั่วถึงเสริมรายได้ประชาชน
คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการปลูกพืชกัญชาที่ปลดล็อกมากขึ้น และมีกฎหมายควบคุมรองรับจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันในปี 2564 อุตสาหกรรมกัญชา มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 600 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2569 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,770 ล้านบาท หรือ +126%
สารสกัด THC เกิน 0.2% ถือเป็นยาเสพติด แต่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ระบุ
ความพยายามในการผลักดัน นโยบายกัญชาเสรี เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีนายอุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายในกระทรวงฯ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการผลักดันปลดล็อกกัญชากันอย่างเต็มที่
กรณีที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีมติปลดกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5 และเตรียมเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ปปส. ในวันที่ 25 มกราคมนี้นั้น ยังมีข้อสังเกตว่า แม้กัญชาจะออกจากบัญชียาเสพติด แต่หากส่วนดอกของกัญชาที่สกัดแล้วมี THC ซึ่งเป็นสารมึนเมาเกิน 0.2% ก็ยังถือเป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมายอยู่
กลุ่มผู้ประกอบการมองว่าเป็นข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถปลดล็อกกัญชาเสรี ได้อย่างเต็มที่ เพราะในความเป็นจริง สารสกัดจากดอกของกัญชาจะพบ THC เกิน 0.2% แน่นอน
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ อย. ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เป็นคนละส่วนกับประกาศบัญชีรายชื่อยาเสพติดที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะต้องลงนามและถือเป็นกฎหมายศักดิ์ใหญ่กว่า ซึ่งไม่ได้กำหนดถึงสารสกัดจะต้องไม่เกิน 0.2%
“ทุกวันนี้คงต้องยอมรับว่าน้ำมันกัญชาที่ใช้กันอยู่ก็มี THC ที่สกัดแล้วอยู่ในปริมาณเกินกว่า 0.2% แต่ถือว่าเป็นยาในการรักษาโรค”
เลขาธิการ อย. ระบุ