‘ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก’ มองดราม่าสอบเข้าอนุบาล ‘สาธิต มมส.’ หักคะแนนนักเรียนร้องไห้ แม้ยกเลิกคำสั่งแล้ว ชี้ ‘ผอ.’ ไม่เข้าใจพัฒนาการ ขาดคุณสมบัติผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ย้ำ ! กฎหมายคุ้มครองเด็กอนุบาล “ห้ามสอบแข่งขันกระทบพัฒนาการ”
วันนี้ (4 ก.พ. 2655) จากกรณีโลกโซเชียลมีเดียเผยแพร่ประกาศโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝ่ายประถม แจ้งข้อปฏิบัติการทดสอบพัฒนาการนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 เพื่อเข้าศึกษาประจำปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 5-6 ก.พ. นี้ โดยมีข้อปฏิบัติในการทดสอบ 3 ข้อ คือ
1. นักเรียนต้องเข้าทดสอบทุกฐาน
2. หากนักเรียนที่เข้าทดสอบร้องไห้ ให้หักคะแนนฐานที่ร้องไห้ฐานละ 3 คะแนน
3. ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าห้องสอบทุกกรณี
ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ล่าสุด รศ.สุนันท์ สายกระสุน ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝ่ายประถม ได้ลงนามประกาศยกเลิกข้อปฏิบัติในการประเมินพัฒนาการนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 ตามที่ได้ลงนามไปก่อนหน้านี้ พร้อมกับประกาศข้อปฏิบัติในการทดสอบพัฒนาการใหม่ คือ
1. นักเรียนต้องเข้ารับการประเมินพัฒนาการครบทุกฐาน
2. การประเมินพัฒนาการจะพิจารณาจากความพร้อมด้านต่าง ๆ ของผู้รับการประเมิน
3. ขอความร่วมมือผู้ปกครองรอรับนักเรียนในจุดที่โรงเรียนกำหนดไว้ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ รศ.สุนันท์ ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยระบุเหตุผล ต้องหักคะแนนเด็กอนุบาลที่ร้องไห้ตอนสอบเพื่อสร้างความเสมอภาค เป็นระเบียบหนึ่งของการทดสอบเด็กนักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาต่อในโรงเรียนที่มีการกำหนดไว้มานานแล้ว เพราะการร้องไห้อาจรบกวนสมาธิของเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ และร้องตาม ทำให้ไม่สนใจในสิ่งที่อยู่ข้างหน้า หรืออาจไม่สามารถเข้าทดสอบความรู้ความสามารถได้ต่อ ส่งผลกระทบต่อเด็กคนอื่น ๆ
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว กรองทอง บุญประคอง หรือ ครูก้า ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ในฐานะคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาปฐมวัย ซึ่งเคยมีข้อเสนอและออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยกเลิกสอบแข่งขันเด็กปฐมวัยจนนำมาสู่การผลักดันเป็น พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย ในปี 2562 ได้แสดงความเห็นกับ The Active ว่า หลักเกณฑ์การทดสอบนักเรียนอนุบาลตามประกาศฉบับแรกโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝ่ายประถม เป็นการไม่ให้ความร่วมมือของสถานศึกษาต่อกฎหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่กำหนดไว้ว่าการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา ต้องไม่กระทบต่อพัฒนาการเด็ก
“เด็กอนุบาล 1 ถ้าสอบเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีอายุเพียง 2 ขวบกว่าเท่านั้น เมื่อแยกเด็กจากผู้ปกครอง สถานการณ์เด็กร้องไห้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแล้วมาตัดคะแนน จริง ๆ ประเมินผู้บริหารไม่ผ่าน ไม่ใช่ประเมินเด็กไม่ผ่าน”
ครูก้า กล่าวต่อไปว่า ความเข้าใจถึงพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งหมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ตาม พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ว่าเป็นวัยกำลังปรับตัว ต้องได้รับการดูแล เสริมสร้างพัฒนาการรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของผู้บริหารสถานศึกษา การใช้ระบบคัดเลือกแบบสอบแข่งขัน หรือแพ้คัดออก สะท้อนว่าผู้บริหารสถานศึกษาไม่เข้าใจพัฒนาการเด็กวัยนี้ ไม่มีความสามารถจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสม
“ผู้บริหารสถานศึกษาไม่เข้าใจพัฒนาการเด็กคือปัญหาใหญ่ของประเทศ การศึกษาเด็กปฐมวัยไม่ใช่ใครจะมาเป็นผู้บริหารก็ได้ ต้องเป็นคนที่เข้าใจเด็กจริง ๆ ต้องมีหน้าที่ติดตามว่าภาครัฐกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลเด็กปฐมวัยอย่างไร โดยเฉพาะตอนนี้มีกฎหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษาต้องทำงานให้เกิดความร่วมมือ”