ไม่ครบองค์ฯ ประชุมสภาต่อไม่ได้ รายงานคณะกรรมาธิการฯ จ่อคิวพิจารณาอื้อ บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท สะดุด หลัง กมธ. ใช้เวลานานกว่า 2 ปี ‘ณัฐชา’ ทวนความจำ รัฐบาลตีตกกฎหมายบำนาญแล้ว 5 ฉบับ เปิดข้อมูล กมธ. เสนอแหล่งที่มาของเงินชัดเจน กระทบงบฯ แผ่นดินน้อยที่สุด
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (4 ก.พ. 2565) ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยให้มีการนับองค์ประชุม เมื่อมีการนับองค์ประชุมด้วยการกดบัตร ปรากฏว่า มีสมาชิกแสดงตนเพียง 195 คน จากจำนวนสมาชิก 474 คน ไม่ครบองค์ประชุม ถือว่า ‘องค์ประชุมล่มอีกครั้ง’ ซึ่งเป็นวาระพิจารณารายงานที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 18 เรื่อง บางเรื่อง กมธ. ใช้เวลาพิจารณานานเป็นปี เพื่อรอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้
“วันนี้ ส.ส. ที่เข้ามาทำหน้าที่กลับไม่ให้ความสำคัญ เรื่องบำนาญของประชาชนที่ได้รับเบี้ยยังชีพหลักร้อยมาตลอด มองข้ามละเลยเรื่องเหล่านี้ไป ทั้งที่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเรา ทั้งนี้ภาคประชาชนมารอรายงานให้ผลให้ ส.ส. รับทราบ และถ้า ส.ส.รับรอง เรื่องจะได้ส่งไปให้ ครม. พิจารณาว่าจะทำได้ตามที่รายงานเสนอหรือไม่ ถ้าทำจะได้เท่าไหร่ เราจะได้ทราบว่ารัฐบาลชุดนี้เอาด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่การที่สภาล่มก็ทำให้เรื่องนี้ชะงักลง น่าเสียใจมาก”
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการเสนอ กฎหมายบำนาญแห่งชาติ ได้ลุกขึ้นท้วงติงว่าขณะนี้มีวาระกฎหหายสำคัญ คือ กฎหมายบำเหน็จบำนาญที่รอการพิจารณาอยู่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ตีตกกฎหมายไปแล้ว 5 ฉบับ ทั้งของประชาชน และของพรรคประชาชาติ เสรีรวมไทย ไทรักธรรม และก้าวไกล ถูกนายกฯ ตีตกทั้งหมดหมด เหลือเพียงฉบับเดียวของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมที่ทำการศึกษาอย่างเข้มข้นจนเป็นรายงานแล้วเสร็จ และถึงวาระมารายงานให้สภาฯ รับทราบในครั้งนี้ การที่วันนี้ภาคประชาชนมารอรับฟังการพิจารณาที่รัฐสภา จึงถือว่ากฎหมายฉบับ กมธ. เป็นความหวังของประชาชนที่จะได้รับบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท
ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ หนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ตั้งใจว่าสภาฯ เป็นที่พึ่งเดียวของภาคประชาชน เพราะประชาชนรับเบี้ยยังชีพหลักร้อยบาทมาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว ประชาชนรอสภาฯ ที่จะเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นหลักประกันพื้นฐานด้านรายได้มาตลอด เวลาไปเจอ ส.ส. นอกสภาฯ ทุกพรรคยินดีสนับสนุน แต่พอมาวันนี้กลับปล่อยให้สภาฯ ล่ม เป็นเรื่องที่เสียใจมาก ตนอยากวิงวอนไม่ให้เล่นเกมสภาฯ เพราะประชาชนพึ่งนายกฯ ไม่ได้อยู่แล้ว ร่างกฎหมายที่เราเสนอมาตีตกหมด จึงมีแต่สภาฯ ที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นจริง
“แทนที่สภาฯ จะทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ คือการพิจารณาผลการศึกษาเรื่องบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่ทุกฝ่ายช่วยกันทำ ช่วยกันให้ความเห็น เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทำจนแล้วเสร็จ เหลือเพียงแต่รอ ส.ส. มาช่วยกันรับฟังผลและให้ความเห็น ซึ่งวันนี้ก็ไม่เกิดขึ้นจึงขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่ประชาชนต้องมารอการชี้แจง ส.ส. ทุกพรรคต้องยืนยันทั้งลับหลังและต่อหน้าในสภาฯ ว่าจะช่วยผลักดันให้ประชาชนมีหลักประกันทางรายได้ยามชราภาพเกิดขึ้นจริงให้ได้”
นิมิตร์ เทียนอุดม
The Active ยื่นขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว พบว่าสาระสำคัญของแนวทางเสนอกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการเสนอเปลี่ยนชื่อ ‘พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ’ เป็น ‘พระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ และเปลี่ยนคำว่า ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ เป็นคำว่า ‘บำนาญพื้นฐานประชาชน’ โดยกฎหมายฉบับนี้จะยกระดับบำนาญพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุเป็น คนละ 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างเท่าเทียมกัน
ประเด็นซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมพิจารณาศึกษา และรวบรวมข้อมูล โดยทำการศึกษาจากเอกสาร งานวิจัย และข้อมูลเชิงสถิติกว่าจะได้ข้อสรุปในวันนี้ คือ ‘แหล่งที่มาของเงิน’ เพราะหากรัฐบาลเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น คนละ 3,000 บาทต่อเดือน ในจำนวนผู้สูงอายุ 12 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณปีละ 432,000 ล้านบาท (สี่แสนสามหมื่นสองพันล้านบาท) จึงพิจารณาว่าควรมีการบริหารงานในรูปแบบ ‘กองทุน’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านงบประมาณที่เป็นภาระของรัฐ
เนื่องจากกองทุนมีรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลกำไรขึ้นได้ซึ่ง ปัจจุบันมี ‘กองทุนผู้สูงอายุ’ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 อยู่แล้ว อีกทั้งมีระเบียบ หลักเกณฑ์ และหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย การปรับแก้พระราชบัญญัติผู้สูงอายุจึงเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
และนอกจากนั้นภายใต้รายงานการศึกษาของกรรมาธิการฯ ยังเสนอให้กองทุนผู้สูงอายุสามารถหาช่องทางรับเงินได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องเพิ่มเติมที่มาของเงินในกองทุนผู้สูงอายุ เพื่อให้มีที่มาของเงินหลากหลายแห่ง ต้องมีการพิจารณาหาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม เช่น รายได้จากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม รายได้จากภาษีรถยนต์ รายได้จากค่าภาคหลวงแร่ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต รายได้ในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล รายได้จากการบริจาค และการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาในอัตราภาษีก้าวหน้า เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เหตุการณ์สภาล่ม ไม่เพียงแต่ทำให้กระบวนการทางสภาติดขัดไป หรือมีผลในทางการเมืองของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น แต่อาจหมายถึงประโยชน์ที่ประชาชนทั้งประเทศควรได้ อย่างเรื่อง ‘บำนาญแห่งชาติ’ ที่ไม่ควรถูกยืดเวลาออกไปโดยไม่จำเป็น เพราะ ยังมีคนไทยอีกหลายล้านคนที่ยังรอความมั่นคงทางรายได้ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่พวกเขาควรได้อย่างเท่าเทียม