‘เยาวชนฮักน้ำของ’ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ อุบลฯ ค้านเอกชนสำรวจโขงทำเขื่อน

ตั้งข้อสังเกตการขอเข้าพื้นที่สำรวจศึกษาของบริษัทเอกชน เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด และโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายแล้วหรือไม่? ชี้ ขอบเขตการศึกษาตาม MOU ต้องอยู่เฉพาะขอบเขตประเทศลาวเท่านั้น

วันนี้ (7 ก.พ. 2565) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีที่บริษัทเอกชนทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอเข้าสำรวจและเก็บข้อมูลในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง 2 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทย – ลาว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำผามอง บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวัน บริเวณอำเภอปากชม จังหวัดเลย  โดยมีตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเป็นผู้มารับหนังสือ

การยื่นหนังสือครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือขอเข้าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยอ้างถึงการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ Memorandum of Understanding (MOU) กับรัฐบาลลาว ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยในหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า บริษัทจะขอเข้าไปดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลพร้อมเครื่องจักรต่าง ๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 – มกราคม 2566 ในพื้นที่ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 10 – 12 ครั้ง ครั้งละ 7 วัน  (โดยประมาณ)

สำหรับหนังสือที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ยื่นถึงผู้ว่าฯ ระบุว่า ในนาม “เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ” ได้ติดตามผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักมาตลอด และยังเผชิญกับผลกระทบข้ามพรมแดนทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำตอนบนในจีน และจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ที่ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา กรณีที่บริษัทฯ ขอเข้าพื้นที่เก็บข้อมูลในการ พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางเครือข่ายจึงตั้งข้อสังเกตถึงความชอบด้วยกฎหมาย ของการดำเนินการดังกล่าว

1. MOU ที่บริษัทฯ ลงนามกับรัฐบาลลาว ตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เป็นการดำเนินการระหว่างบริษัทฯ กับรัฐบาลลาว เท่านั้น ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้การรับรองการศึกษา โครงการดังกล่าวในรูปแบบ MOU ในระดับรัฐต่อรัฐ แต่อย่างใด ดังนั้น ขอบเขตการศึกษาของบริษัทฯ จึงต้องอยู่เฉพาะในขอบเขตประเทศลาวเท่านั้น

2. ตามกฎหมายของประเทศไทยในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่สำคัญ อย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาและเปิดประมูลให้บริษัทเข้ามาดำเนินการ ซึ่งไม่อาจแน่ใจได้ว่า การดำเนินการของบริษัทที่ดังกล่าว ได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นหรือไม่

3. นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ ได้ขอเข้าสำรวจในระยะเวลาที่เกินจากกรอบ MOU ที่ลงนามไว้กับรัฐบาลลาว ยังมีคำถามได้ว่า มีวัตถุประสงค์ใด และมีข้อมูลใดหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานและเยาวชนฮักน้ำของ ยังระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบกลับภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้หนังสือฉบับดังกล่าว

สำหรับบรรยากาศในพื้นที่เวลานี้ ตัวแทนชาวบ้าน ระบุว่า พบการแล่นเรือสำรวจระดับ ปริมาณ และการไหลของน้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แม้ตอนนี้จะอยูในขั้นตอนของการสำรวจ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านกังวลว่า การเดินหน้าของโครงการครั้งนี้จะช่วงชิงความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรในพื้นที่ไป และกรณีเลวร้าย หากมีการสร้างเขื่อนในบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ตรงนั้นทั้งหมู่บ้านหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ