‘นักการศึกษาสายปฏิรูป’ แนะรัฐ นำจุดเด่นโรงเรียนสาธิตสู่การศึกษายุคใหม่

ชี้ “ดรามาสาธิตธรรมศาสตร์” สะท้อนความต้องการสังคมอยากได้การศึกษาหลากหลาย มอง ‘กลุ่มโรงเรียนสาธิต’ มีความพร้อมส่งต่อนวัตกรรม ขยายแนวคิดการเรียนรู้ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ

จากกรณีโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จับตามองว่ามีหลักสูตรการศึกษาบิดเบือนไปจากโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป กระทั่งผู้บริหารโรงเรียนออกมาชี้แจงต่อสังคมถึงการเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ที่มีการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้หลากหลายศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง

รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการการศึกษานานาชาติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Active เกี่ยวกับกระแสสังคมที่เกิดขึ้นจากข่าวดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนตั้งคำถามถึงหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป โดยมีความคาดหวังอยากให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาแบบใหม่ ๆ เหมือนกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหลายๆ โรงเรียนสาธิตที่มีหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้ที่โดดเด่น

รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานคณะกรรมการฯโครงการการศึกษานานาชาติ รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดารณี กล่าวว่า โรงเรียนสาธิต เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) บทบาทหน้าที่หลักของโรงเรียนสาธิต คือเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนิสิตนักศึกษา และสร้างแม่แบบด้านการศึกษา

“โรงเรียนสาธิตไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนโรงเรียน สพฐ. บทบาทสำคัญคือทำโรงเรียนเพื่อให้ครูมีแหล่งทดลอง มีพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ คิดค้นหลักสูตร ออกแบบระบบบริหารจัดการและสนับสนุนผู้เรียน คือทุกกระบวนการในเรื่องการจัดการเรียนการสอนของเด็ก ๆ มุ่งที่คุณภาพสูงเป็นหัวใจสำคัญ”

รศ.ดารณี กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนสาธิตแต่ละแห่งยังมีบทบาทสำคัญ คือการเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเช่น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหลักสูตรเรียนรวมสำหรับเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น บกพร่องทางการเรียนรู้ มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ภาวะออทิซึม เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจความหลากหลายของผู้คน ขณะที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้ความถนัดและความสนใจของตัวเอง โดยมีวิชาเลือกมากกว่า 100 วิชา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า มุ่งเป็นต้นแบบโรงเรียนสายวิทย์สอนด้วยภาษาอังกฤษเพื่อผลิตนักสร้างนวัตกรรม เป็นต้น

“โรงเรียนสาธิต ถามว่าลงทุนแพงไหม แพงนะ เพราะว่าครูอาจารย์มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย อย่างอาจารย์สาธิตจุฬาฯ สาธิตเกษตรฯ สาธิต มศว เป็นอาจารย์ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เพราะฉะนั้นครูโรงเรียนสาธิตก็คือครูที่มีคุณภาพสูง แล้วการจัดการเรียนการสอนแม้จะอยู่ภายใต้หลักสูตรของชาติ แต่โรงเรียนสาธิตจะมีอิสระในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตัวเอง แต่ละโรงเรียนจึงมีเอกลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะของตัวเองตามหลักคิดและปรัชญาของการตั้งโรงเรียนนั้น”

ส่วนประเด็นที่สังคมมีความคาดหวังให้โรงเรียนทั่วไปนำเอาจุดเด่นโรงเรียนสาธิต ไปขยายพื้นที่จัดการเรียนรู้เพิ่มเพื่อให้เด็กส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าถึงรูปแบบการศึกษายุคใหม่นั้น รศ.ดารณี ระบุว่า ตนสนับสนุนแนวคิดนี้ เนื่องจากโรงเรียนสาธิตมีนวัตกรรมที่ผ่านการปฏิบัติจริง ทำงานกับเด็กจริง ๆ มีองค์ความรู้ หลักสูตร วิธีการสอน และรูปแบบที่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบท ไม่ใช่การลอกเลียนต่างประเทศมาใช้

“โรงเรียนสาธิตต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ถามว่าเราสื่อเรื่องนี้ออกไปบ้างไหม เราสื่อออกไป แต่เนื่องจากระบบการศึกษาไทยเรา อย่างในโรงเรียน สพฐ. ก็มีความแข็งตัว มีข้อตกลง ระเบียบอะไรต่าง ๆ ที่ทำให้ครูไม่กล้าออกนอกกรอบ ถามว่าเราจัดอบรมไหม เราทำตลอด เราไปเป็นพี่เลี้ยง ไปช่วยเปลี่ยนแปลงโรงเรียนที่เปิดใจ เอาคุณครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ต้องการเรียนรู้เข้ามาอยู่กับเราเลย แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกนวัตกรรมจะมาเอาไปใช้ได้ทุกโรงเรียน เพราะการศึกษาในแต่ละบริบทไม่เหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดารณี มองว่า แม้ที่ผ่านมากลุ่มโรงเรียนสาธิตจะมีการขยายแนวคิดและวิธีการจัดการเรียนรู้ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ แต่ยังมองว่ายังเป็นภารกิจที่ทำน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับความคาดหวังของสังคมที่อยากเห็นบทบาทโรงเรียนสาธิตเป็น Change Agent หรือ ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ขยายแม่แบบการเรียนรู้ที่โดดเด่นเปลี่ยนระบบการศึกษาภาพใหญ่ให้มีความก้าวหน้ามากกว่านี้

“โรงเรียนสาธิตทั้งหลายต้องจับมือกัน แล้วตั้งเป้าหมายที่จะส่งนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ตัวเองมีอยู่ออกสู่สังคมให้มีผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ ในฐานะที่มีบทบาทในโรงเรียนสาธิตดิฉันมองว่าเราต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเปิดโรงเรียนขึ้นมาเพื่อสอนเด็กเหมือนกับโรงเรียน สพฐ. เราลงทุนสูงกว่าเยอะเลย จริง ๆโรงเรียนสาธิตทุกแห่งมีเครือข่ายโรงเรียนทั่วไปของตัวเองอยู่ แต่คิดว่าเราต้องทำมากขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม