หลังปัดตกไปแล้ว 2 ฉบับ ‘เครือข่ายอากาศสะอาด’ แสดงเหตุผลและความจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่เพื่อจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หลังพบว่า ที่ผ่านมากลไกการแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เรียกร้องรัฐเห็นชอบร่างกฎหมายจัดการอากาศสะอาดในประเทศไทย
22 ก.พ. 2565 – เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย “Thailand Can” และประชาชนผู้เดือดร้อนจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ร่อนจดหมายเปิดผนึก ขอให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย หลังจากรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 26,000 รายชื่อ ยื่นเสนอกฎหมายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สาระสำคัญในจดหมายเปิดผนึก ให้ข้อมูลความเป็นมาของเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ว่าเป็นกลุ่มนักวิชาการจิตอาสาหลากสาขาและนักขับเคลื่อนสังคม ที่ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ และหาทางออกให้กับประชาชน โดยเนื้อหาในกฎหมายที่ร่วมกันร่างขึ้น มาจากผลการศึกษาทางวิชาการ ประกอบกับการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทำให้พบอุปสรรคว่า กลไกเชิงโครงสร้างในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งพบว่าเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
ซึ่ง ลักษณะเฉพาะตัวของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาดนี้ จะเป็นนวัตกรรมทางกฎหมาย ที่ไม่ใช่แค่จัดการมลพิษ แต่คือการจัดการอากาศสะอาดที่มีบริบทกว้างกว่าเดิม จัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของฝุ่น ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยการบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ เชื่อมโยงการทำงานระดับนโยบายและภาคประชาชน พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจในการ รวมถึงการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมามีการเสนอร่างกฎหมายอากาศสะอาดโดยกลุ่มต่าง ๆ จำนวน 5 ฉบับ คือ 1) ร่างฉบับประชาชนเข้าชื่อ โดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2) ร่างของพรรคภูมิใจไทย 3) ร่างของพรรคพลังประชารัฐ โดย ส.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ 4) ร่างของพรรคเพื่อไทย และ 5)ร่างฉบับประชาชนเข้าชื่อ โดย เครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่ง 2 ฉบับแรกถูกนายกฯ ปัดตกไปแล้ว จึงกังวลว่าจะซ้ำรอยเดิมและทำให้ปัญหาฝุ่นไม่สามารถแก้ไขได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงต้องการให้นายกฯ เห็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด และความจำเป็นที่ต้องถูกพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้งาน
“กฎหมายเดิม เน้นจัดการมลพิษทางอากาศ แต่ไม่นำไปสู่การทำให้อากาศสะอาด จึงต้องมี ร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงปฏิรูป เพิ่มมาตรการจูงใจ และทางเลือกเพื่อลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงจัดการหมอกควันข้ามแดน ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาจากต้นทางอย่างยั่งยืน เรากังวลข้อมูลที่นายกฯ ได้รับ ครบถ้วนหรือไม่ เพราะบางหน่วยงาน ยังไม่เข้าใจ และพยายามโน้มน้าวว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายแยกออกมาต่างหาก จึงเกรงว่าจะเป็นเหตุให้นายกฯ ปัดตก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้”
รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม
นอกจากนี้ เว็บไซต์ iLaw ระบุว่า ยังมี ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมาย PRTR ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล อีกหนึ่งฉบับ ซึ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ.การเงินฯ หรือกฎหมายที่จะส่งผลต่อสถานะการเงินการคลังของรัฐ ที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนเช่นกัน ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปัดตกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ดังนั้น การที่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอากาศสะอาดหรือมลพิษทางอากาศไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในสภา ปัญหาอย่างหนึ่งมาจากการที่นายกฯ ยังไม่ได้ให้ “คำรับรอง” ต่อร่างกฎหมายดังกล่าว